สูตรไม่ลับ 3 Step สู่เส้นทางเรียนรู้ให้ Success
“Lifelong Learning” คงจะเป็นคำที่ใครหลายคนได้ยินบ่อย ๆ เพราะ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป็นแนวคิดที่ไม่ว่าใครก็คาดหวังอยากให้เกิดขึ้น ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนเด็กโต ตั้งแต่พ้นวัยเรียนเข้าสู่โลกของการทำงาน
ความคาดหวังเกิดขึ้นตั้งแต่โรงเรียนที่หวังให้นักเรียนมี Growth Mindset พร้อมจะเรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัว องค์กรมุ่งหวังให้พนักงานพร้อมพัฒนาตัวเองและไม่หยุดอยู่กับที่ และในฐานะตัวบุคคล หลายคนย่อมคาดหวังว่าจะได้เติบโตในเส้นทางใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ
แต่การเรียนรู้ในวัยทำงานค่อนข้างเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร อยากจะเพิ่มทักษะให้ตัวเอง อยากไปลงเรียนกับสถาบันอบรม แต่คอร์สที่เปิดกับเวลาที่มีกลับไม่ตรงกัน แถมนอกจากจะต้องเผชิญกับการจัดการเวลากับภาระงานมากมายแล้ว หลายคนยังประสบปัญหาเรียนแล้วลืม อยากทบทวนสิ่งที่เรียนมานะ แต่ไม่มีเวลา งั้นเอาไว้ก่อนแล้วกัน สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการไปไม่ถึงเป้าหมายสักที
บทความนี้จึงขอแนะนำ 3 ขั้นตอนที่จะช่วยพาคุณไปยังปลายทางของการเรียนรู้ให้สำเร็จ
LEARN - PRACTICE - CERTIFY
STEP 1 : LEARN – เรียนรู้
ตั้งเป้าหมายและกำหนดระยะเวลา
ก่อนที่จะเริ่มต้นเรียนรู้ อยากให้กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการเรียนรู้อะไร ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ แต่แทนที่จะตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ ไว้อย่างเดียว เราอยากให้คุณลองแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นเป้าหมายย่อย ๆ เพื่อสร้างเป็น Achievable Tasks เพื่อให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยไม่รู้สึกว่าใช้ระยะเวลานานจนบั่นทอนกำลังใจเกินไป
ลงมือตั้งเป้าหมาย
เป้าหมายหลัก : ……ระบุเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการ……
ระยะเวลา : ……ระบุระยะเวลาทั้งหมด……
กำหนดเป้าหมายย่อย ด้วยหัวข้อการเรียนรู้
เช่น ……เรียนรู้ บทที่ 1 - ระยะเวลา 1 ชั่วโมง (19.00 - 20.00 น. ของทุกวัน)……
- ☐ เรียนรู้ ………………. / ระยะเวลา ………
- ☐ เรียนรู้ ………………. / ระยะเวลา ………
- ☐ เรียนรู้ ………………. / ระยะเวลา ………
เลือกวิธีการเรียนรู้ที่เข้ากับตัวเอง
เพราะทุกคนมีลักษณะนิสัยต่างกัน รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละคนจึงต่างกันไปด้วย บางคนอาจชื่นชอบการเรียนรู้ในห้องเรียน แบบที่มีเพื่อนร่วมคลาสช่วยกันเรียน ช่วยกันจำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บางคนอาจชอบการเรียนด้วยตัวเองเงียบๆ เพื่อโฟกัสเนื้อหาหลักโดยไม่วอกแวกไปเรื่องอื่น ลองถามตัวเองว่าที่ผ่านมาเราเคยเรียนรู้แบบไหนมาบ้าง และคิดว่าแบบไหนคือรูปแบบที่เหมาะกับสไตล์ของเรา
ชอบเรียนกับผู้สอนจริง ๆ ที่สามารถพูดคุยสอบถามปัญหาได้เลย
เลือก : เรียนกับสถาบันอบรมที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ โดยตรง
ข้อดี : ประหยัดเวลาในการสรุปเนื้อหาด้วยตัวเอง มีระยะเวลาเรียนแน่นอน
ข้อควรระวัง : อาจไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาเรียนเองได้ ราคาอาจสูงกว่าการเรียนรู้แบบอื่น
ชอบเรียนด้วยตัวเองผ่านการอ่านและดูวิดีโอ
เลือก : เรียนรู้ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ / เรียนรู้จากหนังสือ
ข้อดี : จัดสรรเวลาเองได้ ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า บางครั้งข้อมูลดี ๆ ก็มีสอนฟรีใน YouTube
ข้อควรระวัง : ใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้มากกว่า มีโอกาสที่จะล้มเลิกกลางคันได้หากไม่วางแผนดี ๆ
ชอบเรียนรู้จากข้อมูลที่ได้รับการสรุปหรือประยุกต์ให้อยู่ในรูปของความบันเทิง
เลือก : เรียนรู้จากสื่อ เช่น คอนเทนต์วิดีโอ พอตแคสต์ หรือหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน
ข้อดี : ไม่เครียดจนเกินไป ใช้เวลาในการเรียนรู้น้อย รับข้อมูลได้สะดวก
ข้อควรระวัง : ผู้เรียนต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล เนื้อหาอาจไม่ครอบคลุมความรู้ทั้งหมด
หาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
เพื่อไม่ให้เป็นการเรียนรู้แบบไร้ทิศทาง การเลือกแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือจะช่วยให้เราไม่ต้องเหนื่อยในการค้นคว้าว่าสิ่งที่จำเป็นต้องรู้มีอะไรบ้าง หลักสูตรอบรมทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ทั้งแบบฟรีและไม่ฟรีล้วนมีการกำหนดหัวข้อที่ต้องเรียนรู้ให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปตามขั้นตอน และสถาบันอบรมต่าง ๆ มักจะมีการออกใบรับรองให้กับผู้เรียน เพื่อเป็นการยืนยันว่าได้เรียนจบหลักสูตรตามที่กำหนดไว้จริง เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้การเรียนไปถึงปลายทาง และต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้
จดบันทึกระหว่างเรียนรู้
การจดบันทึกและสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จะช่วยให้สามารถจดจำได้ดีและยาวนานขึ้น สามารถเลือกรูปแบบการจดบันทึกที่เหมาะกับตัวเองได้ เช่น
จดบันทึกแบบ Outline คือ การจดหัวข้อหลัก หรือ ใจความสำคัญ เป็นรูปแบบการจดบันทึกที่นิยมมากที่สุด
จดบันทึกแบบ Boxing คือ การจดบันทึกโดยจับหัวข้อและเนื้อหาที่สำคัญ ใส่ไว้ในกล่องใบเดียวกัน เพื่อให้สะดวกในการจัดระเบียบ และกลับมาดูซ้ำได้ง่าย
จดบันทึกแบบ Mind Mapping คือ การจดบันทึกหัวข้อสำคัญ และลากโยงสิ่งที่สัมพันธ์กันเพื่อให้เข้าใจภาพรวมได้ดีขึ้น
STEP 2 : PRACTICE – ฝึกฝน
วิธีที่จะทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาได้ดีที่สุด คือการได้ฝึกฝนหรือลงมือทำ เพื่อให้คุ้นชินกับสิ่งนั้น คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมในการใช้งานจริง ที่ไม่ใช่แค่ท่องจำ หรือจดโน้ตไว้แต่ไม่กลับมาอ่าน การฝึกฝนไม่เพียงแต่ช่วยให้เราจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีขึ้น แต่ยังทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นในสถานการณ์ที่หลากหลาย
พีระมิดแห่งการเรียนรู้ (Learning Pyramid) จากงานวิจัยของ NTL Institute ก็มีแนวคิดว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning จะช่วยทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จในการเรียนรู้มากกว่าการท่องจำ หรือฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว
ลงมือทำ / หาโอกาสประยุกต์ใช้
การลงมือทำไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจ และการจดจำได้ดีมากถึง 75% โดยเฉพาะทักษะที่ต้องใช้การปฏิบัติเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่าง ๆ มักจะมีการออกแบบให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ หรือทำข้อสอบเพื่อประเมินความรู้ควบคู่กับการเรียนไปด้วยเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นพัฒนาการของตัวเอง
ตัวอย่างชุดฝึกฝน CertPREP Practice Test
เป็นระบบฝึกฝนทักษะที่จำเป็น สำหรับคนที่ต้องการสอบใบรับรองทักษะมาตรฐานสากลโดยเฉพาะ ครอบคลุมหัวข้อความรู้ที่ใช้วัดทักษะทั้งหมด รวมทั้งตัวระบบสามารถจำลองสถานการณ์การสอบ เพื่อฝึกฝนให้ผู้ใช้งานคุ้นชินกับการจับเวลา การตัดสินใจในสถาณการณ์ที่เหมือนกับการสอบจริง ๆ มี Score Report ชี้แจงทักษะที่มีอย่างละเอียด
บอกเล่า สอน หรือส่งต่อความรู้
หลังจากผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนจนเกิดความเข้าใจแล้ว หากเราสามารถที่จะส่งต่อความรู้ไปยังผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอน การเขียนเล่าความรู้เป็นข้อความลงบล็อก หรือเพียงแค่แชร์เทคนิคที่ได้ตกผลึกได้ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว ก็ล้วนเป็นการยืนยันได้ว่าเรานั้นเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ มากพอสมควร
STEP 3 : CERTIFY – รับรอง
ปลายทางของการเรียนรู้ แน่นอนว่าไม่ได้หยุดอยู่แค่ การได้รับการรับรอง ไปเสียทีเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับการรับรองว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปนั้นถูกต้อง เชื่อถือได้ จะช่วยทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น และหากการรับรองนั้นเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก็ยิ่งช่วยให้การเรียนรู้ของเรานั้นมีมูลค่ามากขึ้น สามารถที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางอ้อมได้อีก
การรับรองทักษะหรือที่หลายคนเรียกว่า “ใบเซอร์” เหล่านี้ มักจะออกใบรับรองโดยสถาบันที่ดูแลการอบรมโดยตรง หรือจากหน่วยงานเจ้าของซอฟต์แวร์ ระดับความน่าเชื่อถือจะเรียงลำดับจาก “ใบรับรองการเข้าอบรม” ไปจนถึง “ใบรับรองทักษะ” ที่ต้องผ่านการทดสอบด้วยข้อสอบที่เป็นมาตรฐาน
ใบรับรองการเข้าร่วมการอบรม ออกใบรับรองโดย สถาบันหรือหน่วยงานที่ออกแบบหลักสูตร เช่น คอร์สเรียนจากมหาวิทยาลัย คอร์สฝึกทักษะจากหน่วยงานรัฐ คอร์สอบรมจากสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ (คอร์สของเออาร์ไอทีเองก็มีการออกใบรับรองการเข้าร่วมอบรมให้กับผู้เรียน) ใบรับรองประเภทนี้จะเน้นที่การลงมือปฏิบัติ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง มีการประเมินความรู้ก่อนและหลังอบรมเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเรียน
ใบรับรองทักษะที่ต้องผ่านการเรียนและประเมินผล ออกใบรับรองโดย สถาบันหรือหน่วยงานที่ออกแบบหลักสูตรเช่นกัน แต่จะเป็นการเรียนในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เนื้อหาครอบคลุมความรู้ในภาพกว้างมากขึ้น เช่น คอร์สเรียนบนเว็บไซต์ต่างประเทศอย่าง Coursera, Udemy คอร์ส Bootcamp ต่าง ๆ ซึ่งใบรับรองประเภทนี้ นอกจากผู้เรียนจะต้องเรียนให้ครบทุกหัวข้อการเรียนรู้แล้ว ยังต้องทดสอบความรู้ตามเกณฑ์ให้ผ่านจึงจะได้รับใบรับรอง
ใบรับรองทักษะที่ผ่านการประเมินทักษะจากเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง เป็นใบรับรองที่เจาะลึกเฉพาะทักษะการใช้งานโปรแกรมนั้น ๆ และในบางโอกาส ใบรับรองประเภทนี้ยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้สอบได้
ตัวอย่างใบรับรองทักษะที่ต้องผ่านการประเมินความรู้
- Adobe Certified Professional ออกใบรับรองโดย Adobe
- App Development with Swift ออกใบรับรองโดย Pearson VUE
- Autodesk Certified User ออกใบรับรองโดย Autodesk Inc.
- Cisco Certified Support Technician ออกใบรับรองโดย Cisco System Inc.
- Communication Skills for Business ออกใบรับรองโดย Pearson VUE
- Entrepreneurship and Small Business ออกใบรับรองโดย Pearson VUE
- IC3 Digital Literacy ออกใบรับรองโดย Pearson VUE
- Information Technology Specialist ออกใบรับรองโดย Pearson VUE
- Meta Certified Digital Marketing Associate ออกใบรับรองโดย Pearson VUE
- Microsoft Certified Fundamentals ออกใบรับรองโดย Microsoft
- Microsoft Office Specialist ออกใบรับรองโดย Microsoft
- Microsoft Certified Educator ออกใบรับรองโดย Microsoft
- Project Management Ready ออกใบรับรองโดย Project Management Institute (PMI)
- Unity Certified User ออกใบรับรองโดย Unity Technologies
ใบรับรองเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ผู้เรียนรู้มีเป้าหมายในการเรียนเพิ่มขึ้น มองเห็นปลายทางของการเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้น และยังสามารถนำไปใช้ยืนยันทักษะใส่ลงใน Portfolio สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองแบบเป็นรูปธรรมได้