New ME’s Resolution เป็นฉันคนใหม่ ตั้งปณิธานยังไงให้ไม่เฟล

แทบจะเป็นธรรมเนียมการเริ่มต้นปีใหม่ไปแล้วที่หลายคนมักจะเขียน New Year’s Resolution ตั้งเป้าหมายในการทำอะไรสักอย่าง เพื่อเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิตของตัวเอง ปีนี้แหละจะออกกำลังกาย จะลงเรียนอัปสกิลเพิ่ม จะอ่านหนังสือเดือนละเล่ม จะเก็บเงินไปเที่ยว ปณิธานมุ่งมั่นที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ชีวิตและจิตใจกำลังเฟรชเป็นสิ่งที่ปลุกเอเนจี้บวกได้อย่างดี แต่พอเจอชีวิตที่ทั้งยุ่งและเครียดจากการทำงาน ความรู้สึกกระตือรือร้นก็แทบจะหมดไฟลงในเวลาไม่กี่เดือน ดังนั้น บทความนี้จะแชร์แนวทางที่ช่วยพาคุณเดินไปสู่เป้าหมายได้แบบไม่รู้สึกว่าไกลเกินเอื้อม

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและวัดผลได้

หากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราอาจพบว่าที่ผ่านมาอาจไม่ใช่ตัวเราเพียงอย่างเดียวที่ไม่โฟกัสกับเป้าหมายก็ได้ แต่เป็นเพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้นั่นแหละที่กว้างเกินไปจนไม่รู้จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยังไง พอเป้าหมายมันกว้าง ดูไม่ใกล้เคียงความเป็นจริง เมื่อเรามีสิ่งที่โฟกัสหรืออยากจะทำมากกว่า เราก็มักจะขอผัดวันประกันพรุ่งออกไปก่อน เอ.. วันนี้ไม่ทันแล้วเอาไว้ทำวันหลังแล้วกัน เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนหมดปี

เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะเปลี่ยนให้ปณิธานเป็นจริงได้ ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ต้นทางด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีตัวชี้วัดที่จับต้องได้ ซึ่งนี่แหละจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมาย

เราแนะนำให้ใช้หลักการตั้งเป้าหมายแบบเดียวกับการตั้ง KPI เวลาทำงานเลย นั่นคือหลักการแบบ SMART

  • Specific (เฉพาะเจาะจง) กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร เช่น พัฒนาทักษะการออกแบบ
  • Measurable (วัดผลได้) เพิ่มตัวชี้วัดที่วัดผลได้จริง เช่น ออกแบบงานให้ได้เดือนละ 4 ชิ้น
  • Achievable (สามารถทำได้จริง) ตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับทรัพยากรและเวลาที่มี อย่าเพิ่งยิ่งใหญ่เกินไป
  • Relevant (เกี่ยวข้อง) เป้าหมายควรสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ในชีวิตหรืออาชีพ จะได้พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
  • Time-bound (มีกรอบเวลา) กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพราะถ้าไม่มีเดตไลน์เราก็ไม่เริ่มสักที

ตัวอย่างเป้าหมาย “ใช้เวลาวันละ 1-2 ชั่วโมง ฝึกออกแบบงานให้ได้เดือนละ 4 ชิ้น และสอบใบรับรอง Adobe Photoshop ให้ผ่านภายใน 3 เดือน”

หากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มตั้งเป้าหมายอะไรดี เราขอแนะนำแนวทางการตั้งเป้าหมายที่น่าสนใจแล้วลองนำปรับใช้เทคนิคแบบ SMART เพื่อออกแบบเป้าหมายที่เหมาะกับตัวเอง

เป้าหมายเพื่อการเติบโตในสายงาน

  • เรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น วิเคราะห์ข้อมูล เขียนโค้ด หรือการตลาดดิจิทัล
  • ทำความเข้าใจและทดลองใช้วิธีการทำงานแบบ Agile เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการทำงาน
  • เสริมสร้างทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น การพูดในที่ประชุมหรือการแก้ไขปัญหาภายในทีม
  • เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง เช่น การเข้าร่วม Workshop หรือโครงการจิตอาสา
  • หา Mentor หรือผู้ที่สามารถให้คำปรึกษาในสายงาน เพื่อแนะแนวทางและพัฒนาทักษะ

เป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการทำงาน

  • วางแผนและจัดการเวลางานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
  • สร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เช่น หาเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ชอบ
  • ลองฝึกปฏิเสธงานที่เกินความสามารถอย่างสุภาพ แต่ยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ดูบ้าง
  • หาวิธีผ่อนคลายหลังเลิกงาน เช่น การทำสมาธิหรือการเล่นดนตรี

เป้าหมายด้านการพัฒนาทักษะ

  • ลงทะเบียนเรียนรู้ทักษะใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น การออกแบบ หรือการจัดการโครงการ
  • อ่านหนังสือหรือบทความเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในสายงาน
  • เข้าร่วมอบรมหรือสัมมนาที่เปิดโอกาสในการเรียนรู้และพบปะผู้เชี่ยวชาญ

เป้าหมายเพื่ออิสระทางการเงิน

  • สร้างแผนการเงินที่เหมาะสม เช่น ตั้งงบประมาณรายเดือน
  • ออกแบบวิธีการออมหรือลงทุนเพื่อเพิ่มสินทรัพย์ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น การลงทุนในกองทุนรวม
  • ลดหนี้สินและปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน

2. บริหารเวลาให้ดี

ก่อนจะเอาเวลาไปทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ต้องเริ่มจากการจัดสรรเวลาให้กับสิ่งที่ต้องทำก่อน เพื่อดูว่าเราเหลือเวลามากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่น่าจะต้องเคยประสบเรามี 2 เทคนิคมาแชร์ให้คุณเลือกหยิบไปใช้จัดการเวลาให้กับชีวิตของตัวเอง

เทคนิคที่ 1 ลำดับความสำคัญของงานด้วย Eisenhower Matrix เป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นจากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เพื่อใช้จัดระเบียบงานที่ยุ่งเหยิงออกเป็น 4 หมวดตามความสำคัญและความเร่งด่วน

เร่งด่วน และ สำคัญ = ทำทันที งานที่ถ้าไม่ทำจะเกิดปัญหา เกิดผลกระทบต่องานหรือคนอื่นๆ

เร่งด่วน แต่ ไม่สำคัญ = ให้คนอื่นช่วย มอบหมายให้คนอื่นทำ งานด่วนที่แทรกเข้ามาและไม่อยู่ในแผน สามารถมอบหมายหรือกระจายงานให้คนอื่นทำได้

ไม่เร่งด่วน แต่ สำคัญ = ลงตาราง เพื่อจัดเวลามาทำ งานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตามแผนที่กำหนด เป็นงานสำคัญ แต่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาส่ง

ไม่เร่งด่วน และ ไม่สำคัญ = ทำเป็นอย่างสุดท้าย หรือลดความถี่ที่ต้องทำลง งานที่ให้ใครทำก็ได้ หรือถ้าไม่เสร็จก็ไม่เสียหายอะไร

ขอบคุณภาพจาก luxafor

เทคนิคที่ 2 แบ่งเวลาด้วยเทคนิค Pomodoro โฟกัสเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 25 นาที โดยห้ามเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเลย เมื่อครบเวลาให้หยุดพัก 5 นาที แล้วค่อยเริ่มต้นรอบเวลาใหม่ เมื่อทำครบ 4 รอบ ค่อยเพิ่มเวลาพักรอบยาวเป็น 15-30 นาที ลุกไปห้องน้ำ พักกินขนม ซึ่งคุณจะพบว่าสามารถทำงานได้เสร็จเร็ว โดยที่ไม่รู้สึกว่าอยู่กับงานนั้นไปทั้งวัน เพราะได้หยุดพักสั้นๆ ทุก 25 นาที แต่ก่อนที่จะเริ่มใช้เทคนิคนี้ อย่าลืมแบ่งงานใหญ่ออกเป็น Task ย่อย ๆ ก่อนนะ

นอกจากวางแผนเพื่อแบ่งเวลาสำหรับการทำงานและการพัฒนาตัวเองแล้ว อย่าลืมแบ่งเวลาสำหรับ สร้างสมดุลในชีวิต ด้วยนะ ลองวางแผนกิจกรรมพักผ่อน เช่น ออกไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ให้เวลากับครอบครัวและเพื่อนๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งสร้างช่วงเวลาส่วนตัวสำหรับ ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือออกกำลังกาย


3. ลงทุนกับการพัฒนาตนเอง

ใคร ๆ ก็รู้ว่าการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนกับตัวเอง แต่คำว่า “ไม่มีเวลา” น่าจะเป็นปัญหาหลักที่หลายคนเจอ อาจเพราะเรามักคิดว่า “ต้องมีเวลามากพอสำหรับโฟกัสสิ่งนั้น” แต่ที่จริงแล้ว มีแนวคิดหนึ่งที่เชื่อว่าการพัฒนารับปรุงทีละเล็กทีละน้อยจะส่งผลยิ่งใหญ่ในระยะยาว พูดง่ายๆ ก็คือ เราไม่จำเป็นจะต้องเก่งขึ้นทันทีภายในวันนี้พรุ่งนี้ แค่เก่งขึ้นกว่าเราคนเมื่อวานเพียง 1% ก็มากพอแล้ว แม้ว่าตัวเลขเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์มันแทบจะดูไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าแต่ละวันที่ผ่านไปเราเก่งขึ้นบ้างหรือไม่ แต่ในระยะยาว แค่ 1% นั้นก็มากพอให้เราเก่งขึ้น 37 เท่าจากเราคนเดิมเมื่อต้นปีแล้ว

ขอบคุณภาพจากคุณ James Clear

ดังนั้น แทนที่จะรอให้มีเวลาสำหรับฝึกทักษะอะไรสักอย่างด้วยตัวเองแบบครบจบในครั้งเดียว ลองเปลี่ยนมาเป็นการแบ่ง Task ย่อย แล้วทำให้สำเร็จไปทีละนิด แล้วคุณจะพบว่ามันไปถึงเป้าหมายได้ง่ายกว่าการรอ ‘เวลาว่างที่มากพอ’ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาถึงตอนไหน

แล้วจะลงทุนกับการพัฒนาอะไรดีล่ะ ?

  • ลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์ ทยอยเรียนรู้วันละ 1-2 บทเรียน หรือวันละ 1 ชั่วโมง (แต่ถ้าใครคิดว่ากลัวเรียนออนไลน์ด้วยตัวเองแล้วจะไม่มีวินัย อาจจะหาเวลาลงเรียนคอร์สแบบเต็มวัน แล้วเก็บให้คุ้มไปเลยทีเดียวก็ได้)
  • ซื้อหนังสือหรือเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาความรู้ แบ่งเวลาอ่านวันละนิดหน่อยช่วงพัก ไม่นานก็อ่านจบเล่มจบแล้ว
  • เข้าร่วมสัมมนาหรือกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้และพบปะคนเก่งๆ ให้รู้ว่าเขาทำ เขาคิดยังไงกัน

4. โฟกัสที่การพัฒนาทักษะเฉพาะทาง

สำหรับวัยทำงานที่แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นการต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางอาชีพ แต่ถ้าจะระบุความต้องการแบบกว้าง ๆ ก็เหมือนเราลืมหลักการ SMART ที่เพิ่งบอกไปเมื่อข้อแรก เพราะฉะนั้นจะขอแนะนำทักษะที่มาแรงแบบเฉพาะเจาะจงให้เลย

  • ChatGPT for Everyone - เรียนรู้การใช้ AI เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  • Project Management - เสริมความรู้การบริหารโครงการเพื่อสายงาน Management
  • Graphic Design - พัฒนาทักษะการออกแบบและการสร้างสรรค์เนื้อหา
  • Data Analytics - เรียนรู้ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็น Skill สำคัญที่ทุกคนควรมี
  • Networking - สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นในสายงานเครือข่าย
  • Cyber Security - เสริมความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับสาย IT
  • Artificial Intelligence - ทักษะ AI ขั้นสูงสำหรับคนที่อยากผันตัวมาอยู่ในสายพัฒนา AI

5. ให้รางวัลกับตัวเอง

อย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองเมื่อบรรลุเป้าหมายด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนท่องเที่ยว หรือการซื้อของที่อยากได้ เพราะการสร้างแรงจูงใจเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้สึกมีพลังในการทำสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกระตุ้นที่ดี และยังไม่ต้องรู้สึกผิดทีหลังด้วย เพราะรางวัลนี้ถือเป็นการตอบแทนให้กับความมุ่งมั่นพยายามของคุณเอง


ช่วงต้นปีคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการรีเซ็ตตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และลงมือทำสิ่งที่เคยฝันเอาไว้ แม้ว่าหนทางไปสู่เป้าหมายอาจมีอุปสรรคบ้าง แต่อยากให้เชื่อว่า ทุกก้าวเล็ก ๆ ที่คุณเดินไปคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของตัวเองในอนาคต

เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน พยายามปรับปรุงตัวเองวันละนิด และอย่าลืมให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จ แล้วมันจะเป็นปีที่คุณเปล่งประกายและกลายเป็น "New Me" เป็นคุณคนใหม่ที่เก่งขึ้น ดีขึ้น มีความสุขขึ้นมากกว่าเดิม

Previous Post5 ทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานในปี 2025
Next Postอบรมกับ ARIT รับสิทธิลดหย่อนภาษี 200%