5 ทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานในปี 2025
ถึงเวลาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานในปี 2025 ตลาดแรงงานจะเต็มไปด้วยการแข่งขันที่เข้มข้น และทักษะที่นายจ้างต้องการจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าคุณจะกำลังมองหางานใหม่ หรือพัฒนาตัวเองในสายอาชีพเดิม มาเรียนรู้ 5 ทักษะที่จะเนื้อหอมสุด ๆ ในปี 2025 ที่จะเป็นกุญแจสำคัญ ให้คุณพร้อมรับมือกับทุกความท้าทาย เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคต
1. AI Fluency ทักษะจำเป็นแห่งโลกอนาคต
ความคล่องแคล่วในการใช้งาน AI จะกลายเป็นมาตรฐาน Digital Literacy ใหม่ในปี 2025 ด้วยกระแสของเอไอพุ่งทะยานมาแรงมากในปี 2024 โดยเฉพาะการใช้งาน Generative AI ที่ไม่ว่าหันไปทางไหนก็เห็นเรื่องนี้เต็มไปหมด ซึ่งในปี 2025 ที่กำลังจะถึงนี่แหละที่ทักษะด้าน AI จะกลายมาเป็น Digital Literacy ที่ทุกคนควรต้องรู้ เหมือนกับทักษะเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้งานสมาร์ตโฟน ที่กลายเป็นความรู้พื้นฐานที่ต่อไปไม่ว่าใครก็จะใช้งานได้ ไม่ได้เข้าถึงยากอีกต่อไป
และต่อจากนี้ "AI จะไม่ได้มาแทนมนุษย์ แต่มนุษย์ที่ใช้ AI ได้ จะมาแทนที่มนุษย์ที่ใช้ AI ไม่เป็น" ความคล่องแคล่วด้านเอไอ เช่น การรู้วิธีเขียน Prompt เพื่อให้ดึงผลลัพธ์ออกมาได้อย่างที่ต้องการ การปรับแต่งโมเดล AI ให้ตอบโจทย์แบบเฉพาะเจาะจง รวมถึงการเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จาก AI
2. ผู้นำกับการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี
หัวใจสำคัญของการนำองค์กรสู่ความสำเร็จในอนาคต คือการมีผู้นำที่เข้าใจเทคโนโลยี เช่น AI, Data Analytics, Cloud Computing, 5G และ Quantum Computing และนอกจากจะเข้าใจในเชิงทฤษฎีแล้ว ยังต้องสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาหลักขององค์กรได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้นำเหล่านี้ต้องมีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ สร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมนวัตกรรม และเข้าใจตัวชี้วัดประสิทธิภาพของแต่ละเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เพื่อตัดสินใจว่าโครงการใดควรไปต่อหรือควรหยุด เพราะเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้แปลว่าจะเข้ากับทุกรูปแบบการทำงานเสมอไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องเข้าใจ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและการจัดการความเสี่ยง
3. เรียนรู้ตลอดชีวิต หัวใจสำคัญของความสำเร็จ
ในปี 2025 นวัตกรรมจะก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งการหยุดเรียนรู้เพียงชั่วครู่ก็อาจทำให้ทักษะที่มีอยู่กลายเป็นทักษะที่ไม่อัปเดตได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรียกได้ว่าอายุของทักษะจะมาไวไปไวมาก การเรียนรู้แบบเดิม ๆ ที่จัดหนักเฉพาะช่วงวัยเรียนจะต้องเปลี่ยนไปเป็นการเรียนรู้ยาว ๆ ไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องการทำงานในองค์กรเดิมไปตลอด ก็จะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เพราะผู้คนจะเริ่มต้อวพัฒนาศักยภาพ เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่
นายจ้างที่มีวิสัยทัศน์จะตระหนักว่าการส่งเสริมให้พนักงานมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือกลยุทธ์ที่จำเป็นในการลดช่องว่างของทักษะ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร รวมถึงสถาบันการศึกษาก็จะต้องเปลี่ยนมาเลือกใช้หลักสูตรที่คล่องตัวขึ้น และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพราะหลักสูตรระยะยาวที่ต้องใช้เวลา 4 ปีในการเรียนให้จบเพื่อเข้าสู่การทำงาน ถึงตอนนั้นความรู้ที่เรียนไปก็ Out กลายเป็นทักษะเก่าไปหมดแล้ว
4. วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์และการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน
ถึงแม้ว่า 3 ข้อก่อนหน้านี้จะบอกว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกำลังกระโจนใส่เราอย่างหนักหน่วง สารพัดความอัจฉริยะของ AI ที่ดูเหมือนจะอลังการมากในปีนี้ทำให้คนที่เริ่มจับเอไอมาใช้ประโยชน์ได้ เหมือนวิ่งแข่งกันอยู่บนลู่ และค่อยๆ ไกลจากจุดสตาร์ทแบบทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ แต่อย่าเพิ่งกังวลว่าจะโดนเทคโนโลยีพุ่งชนจนหงายหลังมากขนาดนั้น อยากให้เบาใจลงว่าจริง ๆ แล้วความสามารถของ AI (ในตอนนี้) ยังจำลองความซับซ้อนด้านการรับรู้ของมนุษย์ได้เพียงผิวเผินเท่านั้น
ในแง่ของการทำงานที่มีรูปแบบซ้ำซ้อนตายตัว เอไอสามารถทำงานภายในระยะเวลารวดเร็วได้จริง แต่ในเรื่องมุมมอง วิธีการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ยังจำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาแบบองค์รวม ซึ่งต้องใช้บริบทหลายอย่างเป็นเงื่อนไข มนุษย์ยังคงต้องมีบทบาทสำคัญเพื่อตัดสินใจ ดังนั้นการมีกลยุทธ์แบบมองการณ์ไกล และสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ จะยิ่งเป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์จริงแบบเราต้องมี
5. Emotional Intelligence พลังแห่งมนุษย์ในโลกดิจิทัล
เมื่อถึงวันที่เครื่องจักรเรียนรู้จนสามารถทำงานตามกิจวัตรได้สำเร็จ เทคโนโลยีแพร่หลายจนราคาของเทคโนโลยีลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันกันได้ทั่วไป ไม่ว่าใครหรือองค์กรไหนก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และหยิบมาใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อนั้นระดับความสามารถขององค์กรก็อาจจะอยู่ในเลเวลใกล้ๆ กัน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่าง จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้และจะเพิ่มมูลค่าขึ้นเรื่อย ๆ คือ Emotional Intelligence หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ของมนุษย์ ที่จะเป็นหลักในการต่อสู้ด้านความเป็นผู้นำที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
ศิลปะแห่งการสื่อสารระหว่างบุคคลกับบุคคลคือหัวใจสำคัญในวันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มอิ่มตัว ทุกวันนี้ผู้คนเรียนรู้ที่จะคุยกับเครื่องจักร หรือเอไอมากขึ้น แต่ทักษะในการพูดคุยกับมนุษย์ด้วยกันเองกลับลดลง การปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจและความไว้วางใจในทีม การขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงระหว่างบุคคลที่ซับซ้อน การให้คำปรึกษาและการฝึกสอนเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าผ่านการสื่อสารที่ละเอียดอ่อน รวมไปถึงการแก้ไขความขัดแย้งอย่างมีชั้นเชิงจะมีค่าอย่างมาก
ความสำเร็จไม่ว่าจะต่อบุคคลหรือองค์กรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผสานเทคโนโลยีและความสามารถของมนุษย์เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างเหมาะสมลงตัว ผู้ที่พัฒนา 5 ทักษะสำคัญเหล่านี้ได้ และใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงและวิสัยทัศน์ของมนุษย์ ก็จะเป็นผู้นำในโลกยุค AI ที่ยังมั่นใจได้ว่าจะไม่กลืนหายไปกับความเร็วของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
สนใจสอบ Certificate เพื่อรับรองทักษะตามมาตรฐานสากล หรือฝ่ายพัฒนาบุคลากรที่ต้องการจัดสอบและอบรม สามารถรับคำปรึกษาได้ทุกช่องทางการติดต่อของเออาร์ไอที