23 ทักษะสำคัญสู่ความสำเร็จรับปี 2023
เมื่อปีใหม่มาเยือนก็เป็นเหมือนธรรมเนียมการเริ่มต้นในการตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะด้านการเรียน การทำงาน การออกกำลังกาย หลายคนใช้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปีเป็นนิมิตหมายในการวางแผนชีวิตว่าอยากจะพัฒนาอะไร เราจึงอยากแนะนำ 23 ทักษะสำคัญ ทั้ง Hard-Skills และ Soft-Skills ที่จะมีความสำคัญยิ่งขึ้น มาเป็นแนวทางสำหรับใครที่ต้องการ Productive ตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อโอกาสใหม่ๆ
1. Data analysis และ Data visualization
ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และความสามารถในการสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทบจะเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องมีในโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล เพราะสิ่งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของข้อมูลในมือได้ชัดเจน สามารถที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น
ในหลากหลายอุตสาหกรรมล้วนกำลังต้องการบุคลากรที่มีความสามารถนี้เป็นอย่างยิ่ง นั่นจึงทำให้ทักษะด้าน Data analysis หรือ Data visualization กำลังเป็นสายงานมาแรง ซึ่งความรู้ด้านการจัดการข้อมูลนั้น พื้นฐานที่สำคัญคือการใช้งาน Spread Sheets ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Excel, SQL, Power BI, Google Looker Studio (เดิมชื่อ Google Data Studio) ไปจนถึงเครื่องมือเฉพาะทางอย่าง Tableau หรือการนำ Coding เข้ามาช่วยด้วยภาษา R หรือ ภาษา Python
การมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลจะพัฒนาการคิด การมองภาพรวม และยกระดับการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างคอร์สเรียน Data visualization
- เทคนิค Cleansing Data ด้วย Excel อย่างง่าย
- เทคนิค Cleansing Data เพื่อสร้างรายงานและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Power BI
- การสร้าง Visual Report By Power BI Desktop
- (Data Studio) เปลี่ยนข้อมูลบน Report ง่าย เร็ว ได้ดั่งใจ
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Data Analysis
- IT Specialist Certificate : Data Analytics
- Microsoft Azure Data Fundamentals (DP-900)
- Google Data Analytics Professional Certificate
- CompTIA Data+
2. Machine learning
Machine learning (ML) เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้อัลกอริทึมและแบบจำลองทางสถิติเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และคาดการณ์หรือตัดสินใจได้โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม แมชชีนเลิร์นนิงประกอบไปด้วยประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- Supervised learning: เป็นการเรียนรู้แบบมีผู้สอน คือ มีชุดข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงผลลัพธ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ Machine learning คาดคะเนผลลัพธ์ที่ได้จากชุดข้อมูลได้เป็นสองแบบคือ 1) แบบตัวเลข เช่น การคำนวณราคา การคำนวณอุณหภูมิ 2) แบบแบ่งกลุ่ม เช่น การทำนายเพศของลูกค้าที่มีโอกาสจะซื้อสินค้า
- Unsupervised learning: เป็นการเรียนรู้โดยไม่ต้องมีผู้สอน คือ มีชุดข้อมูลต่าง ๆ ให้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางผลลัพธ์ ใช้วิธีกำหนดข้อมูลที่ต้องการ แล้วเครื่องจักรจะวิเคราะห์ผลลัพธ์ออกมา ตัวอย่างเช่น การแนะนำคลิปวิดีโอที่คาดว่าเราจะสนใจบน YouTube การจัดกลุ่มประเภทลูกค้า
- Reinforcement learning: เป็นการเรียนรู้ในลักษณะของการเสริมกำลัง เรียนรู้ใกล้เคียงกับมนุษย์คือ ลองผิด ลองถูก จากสถานการณ์หรือแบบจำลองเพื่อค้นหาการกระทำที่ให้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุด และพัฒนาต่อเนื่องเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น การเล่นเกมหมากล้อมของ AlphaGo ที่สามารถเอาชนะนักหมากล้อมมืออาชีพได้ (มีสารคดีใน Netflix) ลักษณะการลงหมากของ AlphaGo ในแต่ละครั้งนั้นจะพยายามคำนวณผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่ได้ตอนจบเกม และคำนวณเช่นนี้ทุกครั้งที่ลงหมากแต่ละตา จนกระทั่งการคำนวณพาปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ไปสู่ชัยชนะ
Machine Learning Type : อ้างอิง
3. Artificial Intelligence
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบและอัลกอริทึมให้สามารถทํางานแทนงานที่ปกติต้องใช้สติปัญญาของมนุษย์ในการจัดการ เช่น การเรียนรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหา ซึ่งทักษะสําคัญที่จําเป็นสําหรับอาชีพเกี่ยวกับ AI ได้แก่
- การเขียนโปรแกรม โดยเฉพาะภาษา Python และ ภาษา R เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานกับอัลกอริทึมและเฟรมเวิร์กของ AI
- แมชชีนเลิร์นนิง เช่น การเรียนรู้ภายใต้การดูแลและไม่ได้รับการดูแล การเรียนรู้เชิงลึก และเครือข่ายประสาทเทียม ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญสําหรับการสร้างระบบ AI
- ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ข้อมูล เช่น การสร้างภาพข้อมูล และการวิเคราะห์ทางสถิติ เป็นสิ่งสําคัญสําหรับการทํางานกับข้อมูลจํานวนมากที่ใช้ในการฝึกโมเดล AI
- ทักษะทางคณิตศาสตร์ที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเช่นพีชคณิตเชิงเส้น แคลคูลัส และทฤษฎีความน่าจะเป็น ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการทําความเข้าใจและการใช้อัลกอริทึม AI
- การแก้ปัญหา เพราะ AI ต้องการการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
- การสื่อสารและการทํางานร่วมกัน เนื่องจาก AI เป็นสาขาสหสาขาวิชาชีพจึงต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายด้าน
- อัปเดตความรู้อยู่เสมอ ปัญญาประดิษฐ์เป็นสาขาที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วดังนั้นจึงเป็นเรื่องสําคัญที่จะต้องติดตามการพัฒนาและความก้าวหน้าล่าสุดในสาขานี้
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Artificial Intelligence
4. Web development
อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจใดไม่มีที่อยู่ร้านค้าในรูปแบบออนไลน์ก็เหมือนปิดโอกาสตัวเองในการพบเจอลูกค้า เพราะการขายตามแพลตฟอร์ม e-commerce, Social Media หรือเว็บไซต์ก็เหมือนกับการมีตัวตนให้ลูกค้าค้นเจอ ซึ่งจริง ๆ แล้วธุรกิจของเราอาจไม่จำเป็นต้องขายผ่านออนไลน์ก็ได้ อาจจะขายแบบออฟไลน์เป็นหลัก เช่น คลินิกทันตกรรม ที่ต้องเดินทางมาใช้บริการที่ร้านเท่านั้น แต่การมีตัวตนให้ลูกค้าเห็นทางออนไลน์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ดีขึ้น
การมีเว็บไซต์แบบทางการจึงเป็นตัวเลือกหลักที่หลายธุรกิจเลือกใช้ เพราะสามารถที่จะปรับแต่งได้ตามความต้องการ เป็นสินทรัพย์ของธุรกิจโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ว่าจะปิดตัวลงหรือไม่ ข้อมูลที่อัปเดตบนแพลตฟอร์มของคนอื่นวันดีคืนดีจะหายไปหรือเปล่าหากแพลตฟอร์มนั้นยกเลิกกิจการ นั่นจึงทำให้อาชีพ “นักพัฒนาเว็บไซต์” ยังคงจำเป็นอยู่เสมอ
การพัฒนาเว็บไซต์เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ไปจนถึงการดูแลจัดการเว็บไซต์หลังจากสร้างเสร็จแล้ว ในการออกแบบเว็บไซต์จะต้องคำนึงถึงตำแหน่งในการวางเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์ รวมไปถึงควบคุมโทนสีให้เหมาะสม การกำหนดแบบตัวอักษร และดูแลความสวยงามภารวม เพราะการมีเว็บไซต์ที่สวยงาม ใช้งานง่าย รองรับทุกอุปกรณ์การใช้งาน และโหลดได้รวดเร็ว จะช่วยเพิ่มจำนวนคนเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ และทำให้ติดอันดับการค้นหาบน Search Engine ได้ด้วย
ภาษาที่นิยมใช้ในการเขียนเว็บไซต์แบบ Front-End เช่น HTML, CSS และ JavaScript เพื่อสร้างสรรค์การโต้ตอบที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ส่วนในด้าน Back-End จะเกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไซต์ โดยใช้โปรแกรม PHP, Ruby และ Python เพื่อเชื่อมต่อเว็บไซต์เข้ากับฐานข้อมูลและระบบอื่น ๆ
ตัวอย่างคอร์สเรียน
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Web development
- IT Specialist Certificate: HTML and CSS
- IT Specialist Certificate: Java
- IT Specialist Certificate: JavaScript
5. Mobile app development
เมื่อการเติบโตของ Smart Phone เพิ่มขึ้น ความต้องการด้าน “การพัฒนาแอปพลิเคชัน” ก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน องค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาลงทุนกับการผลิตแอปพลิเคชันให้กับบริการของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าเดิม และดึงดูดลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสินเชื่อ ที่โดยปกติแล้วผู้ขอสินเชื่อจะต้องไปดำเนินการที่ธนาคาร ปัจจุบันการยื่นประเมินวงเงินสะดวกมากขึ้นโดยการทำผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่ง win-win ทั้งสองฝ่าย สำหรับผู้ใช้งาน คือ ไม่ต้องเดินทาง แค่เพียงกรอกข้อมูล และรอการติดต่อกลับ สำหรับผู้ประกอบการก็ได้ลูกค้ามาไว้ในมือ รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับลูกค้าได้มากมาย
หรืออีกกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ปัจจุบันผู้คนดูโทรทัศน์น้อยลง ทีวีช่องต่าง ๆ ก็หันมาลงทุนทำแอปพลิเคชันของช่องเพื่อดึงลูกค้ากลับมาดูย้อนหลังซ้ำเมื่อไหร่ หรือกี่ครั้งก็ได้ บางแอปพลิเคชันเก็บค่าใช้จ่าย (Subscription) เป็นรายวัน รายสัปดาห์ เพื่อแลกกับการได้รับชมรายการก่อนใคร หรือไม่ต้องเสียเวลาดูโฆษณา ซึ่งก็ทำให้บริษัทเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น “นักพัฒนาแอปพลิเคชัน” จึงมีบทบาทสำคัญและเป็นที่ต้องการ เพราะต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านโดยเฉพาะการเขียนโปรแกรม ตัวอย่างเช่น Swift, Java, Kotlin, Java Script และ C#
ตัวอย่างคอร์สเรียน
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Mobile app development
- App Development with Swift Certification
- IT Specialist Certificate: Java
- IT Specialist Certificate: JavaScript
6. Cloud Computing
เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะหลังจากผ่านสถานการณ์ที่ต้องมีการทำงานจากหลากหลายสถานที่ ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวขึ้นมาสู่ระบบคลาวด์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการประมวลผลแบบคลาวด์นั้นมีข้อดีคือช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงและจัดการทรัพยากรข้อมูลได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ สามารถปรับขนาดของพื้นที่เก็บทรัพยากรได้ตามต้องการ ไม่ต้องลงทุนในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ใหม่ และเมื่อบริษัทต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้ระบบคลาวด์มากขึ้นเรื่อย ๆ การทำความเข้าใจวิธีการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
การศึกษาการประมวลผลแบบคลาวด์จะได้รับทักษะและความรู้ที่จําเป็นในการออกแบบ ปรับใช้ และจัดการระบบและแอปพลิเคชันบนคลาวด์ สิ่งนี้สามารถนําไปสู่โอกาสในการทํางานและยังสามารถช่วยให้องค์กรปรับปรุงประสิทธิภาพทางธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขันบนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่รวดเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ด้วย
ซึ่งปัจจุบันมีการรับรองความรู้ด้าน Cloud Computing ด้วยใบประกาศนียบัตรสากลจากองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure, Google Cloud Platform (GCP) รวมทั้งใบประกาศนียบัตรน้องใหม่ อย่าง IT Specialist Certification ที่ออกโดย Certiport
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Cloud Computing
7. Cybersecurity
เมื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้จึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์คือการปกป้องเครือข่ายอุปกรณ์และข้อมูลจากการเข้าถึง การดัดแปลง หรือการทําลาย โดยไม่ได้รับอนุญาต ทักษะสําคัญที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโปรโตคอลความปลอดภัย และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ความสามารถในการระบุภัยคุกคาม และตอบสนองต่อภัยคุกคามนั้น
เพราะการโจมตีทางไซเบอร์และการละเมิดข้อมูลอาจทําให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและบุคคลทั้งด้านการเงินและในแง่ของชื่อเสียง การศึกษา Cybersecurity จะทําให้ได้รับทักษะและความรู้ที่จําเป็นในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ สามารถปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนได้ ซึ่งการมีความรู้เหล่านี้จะนําไปสู่โอกาสในการทํางานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และเป็นเทรนด์ความรู้ที่นิยมมากในปัจจุบัน
ตัวอย่างคอร์สเรียน
- Cyber security รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ (Online Course)
- Cyber Security รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ for End User
- Cyber Security รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ for IT Pro
- CompTIA Security+
- CompTIA CySA+
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Cybersecurity
- IT Specialist Certificate: Cybersecurity
- CompTIA Security+
- CompTIA CySA+
8. Project Management
ทักษะด้านการบริหารจัดการโครงการ คือ ความสามารถในการวางแผนการดำเนินงาน และส่งมอบโครงการได้ตามกำหนดเวลา รวมทั้งควบคุมงบประมาณให้อยู่ในกรอบที่วางแผนไว้ ซึ่งทักษะด้าน Project Management มีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ
ตัวอย่างกรณีศึกษาหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ คือ โครงการก่อสร้างอาคาร เบิร์จคาลิฟา (Burj Khalifa) ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่มหานครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความสูงถึง 828 เมตร โดยกำหนดการของการก่อสร้างอาคารสูง 168 ชั้นนี้ มีเส้นตายชัดเจนมากคือต้องสร้างเสร็จพร้อมใช้งานให้ทันการฉลองครอบรอบ 50 ปีของเมือง และมีงบประมาณอยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์
แน่นอนว่าการจัดการโครงการก่อสร้างอาคารที่สูงเสียดฟ้าขนาดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงานจึงจำเป็นต้องวางแผนการทำงานอย่างรัดกุมทั้งด้านแปลนการก่อสร้าง ด้านกำลังคนในการก่อสร้าง ระยะเวลา งบประมาณ และดำเนินการตามแผนที่สร้างไว้จนสำเร็จ ทำให้การสร้างอาคารแห่งนี้ใช้เวลา 6 ปี และอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ กลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลกและเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า ความทันสมัยของดูไบ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ตัวอย่างคอร์สเรียน
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Project management
9. Agile Methodology
วิธีการแบบ Agile เรียกว่าเป็น “แนวคิด” ไม่ใช่วิธีการทำงานที่ตายตัว เป็นวิธีการสําหรับการจัดการโครงการที่ซับซ้อนให้รวดเร็วและยืดหยุ่นขึ้น วิธีการแบบ Agile เหมาะอย่างยิ่งสําหรับโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่ก็สามารถนําไปใช้กับโครงการประเภทอื่นได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการแบบ Agile ที่นิยมกันมาก ก็ได้แก่
- Scrum : ไม่มีการแบ่งใครอยู่ตำแหน่งอะไร จะทำงานในแบบที่ทุกคนช่วยกันทั้งหมด ไม่เน้นกระบวนการและเอกสาร ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำทีละนิดแต่ทำบ่อยๆ ทำงานเป็นทีมมากกว่าที่จะสนใจกระบวนการ
- Kanban : การจัดการงานแบบ Task บอร์ด ระบุสิ่งที่ต้องทำ และสถานะของ Task นั้น ๆ ช่วยให้ผู้ใช้เห็นภาพและช่วยควบคุม Workflow ทั้งหมด
- Lean : การบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่า
- Extreme Programming (XP) : มุ่งเน้นไปที่การรวมการทดสอบและการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง (เหมาะสําหรับโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์)
- Test-Driven Development (TDD) : เน้นการเขียนแบบทดสอบอัตโนมัติก่อนเขียนโค้ด (เหมาะสําหรับโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์)
- Feature Driven Development (FDD) : มุ่งเน้นไปที่การส่งมอบคุณสมบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้าในเวลาที่เหมาะสม (เหมาะสําหรับโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์)
- Scaled Agile Framework (SAFe) : คือการที่บริษัทจะต้องปรับขนาดตัวเองให้พร้อมรับมือกับขนาดของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
- Crystal Methodologies : เน้นการแบ่งแยกงานออกตามคุณลักษณะของตัวโครงการ โดยจะเเบ่งตามขนาดของทีม หรือแบ่งตามความสำคัญของระบบ และให้ความสำคัญตามลำดับก่อน-หลังของตัวโครงงาน
10. User Experience (UX)
มีหน้าที่สำรวจ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ ระบบ หรือบริการที่มอบประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจและมีคุณค่าให้แก่ผู้ใช้งาน (User) ซึ่งจะต้องทําความเข้าใจและพิจารณาความต้องการเป้าหมายและพฤติกรรมของผู้ใช้รวมถึงเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร ว่าควรออกแบบยังไงให้ใช้งานแล้วไม่งง ซึ่งทักษะด้านการออกแบบ UX มีความสําคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจําวัน การได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีมีส่วนช่วยให้สินค้าหรือบริการประสบความสําเร็จมากขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีอาจนําไปสู่ความไม่พอใจและการเลิกใช้งานได้
11. User Interface (UI)
มีหน้าที่ในการออกแบบอินเทอร์เฟซที่ดึงดูดสายตา น่าสนใจ และใช้งานง่ายสําหรับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเช่นเว็บไซต์ แอพมือถือ และแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ เป้าหมายหลักของนักออกแบบ UI คือเพื่อให้แน่ใจว่าอินเทอร์เฟซมีความใช้งานง่าย และมอบประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นให้กับผู้ใช้ โดยรับข้อมูลการออกแบบมาจาก UX นำมาออกแบบเป็น Mockup หรือ Framework เพื่อส่งต่อไปยัง Programmer หรือฝ่าย Production
12. Graphic Design
การออกแบบกราฟิกเป็นศิลปะการสร้างสรรค์งานออกแบบที่ดึงดูดสายตา ด้วยการใช้ตัวอักษร ภาพ สี และการวางเค้าโครงเพื่อสร้างการออกแบบที่ทั้งสวยงามและมีประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลหรือความคิดออกไป นักออกแบบกราฟิกมีความจำเป็นในงานแทบจะทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบโฆษณาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล หรือสิ่งพิมพ์ และอื่น ๆ การออกแบบกราฟิกเป็นสาขาอเนกประสงค์ที่ให้โอกาสในการทํางานหลากหลายธุรกิจ และเป็นที่ต้องการสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทักษะสําคัญที่นักออกแบบกราฟิกควรต้องมี ได้แก่
- ทักษะการออกแบบภาพ ความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการออกแบบ ทฤษฎีสี องค์ประกอบศิลป์ การจัดวางเลย์เอาต์
- ความเป็นเอกลักษณ์ มีสไตล์ สอดคล้องกับคาแรคเตอร์ของสินค้าหรือแบรนด์นั้น ๆ
- เทคนิคการใช้งานโปรแกรมออกแบบ เช่น Adobe Photoshop, Illustrator, และ InDesign รวมทั้งความสามารถในการทำงานกับ Vector graphics, Raster graphics หรือรูปแบบมีเดียอื่น ๆ
- ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ การมีแนวคิดที่แปลกใหม่อยู่เสมอ
- การสื่อสารถ่ายทอดแนวคิดให้ออกมาในรูปแบบที่มองเห็นและเข้าใจได้
ตัวอย่างคอร์สเรียน
- Illustrator Professional with Adobe illustrator CC
- Photoshop Professional with Adobe Photoshop CC
- Graphic Design with Photoshop & Illustrator
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Graphic Design
- Adobe Certified Professional : Adobe Photoshop
- Adobe Certified Professional : Adobe Illustrator
- Adobe Certified Professional : Adobe InDesign
13. Video Production & Editing
การผลิตและตัดต่อวิดีโอเป็นกระบวนการสร้างและจัดการเนื้อหาภาพและเสียงสำหรับนำไปใช้งานต่อ เช่น ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ โฆษณา วิดีโอต่าง ๆ ขององค์กร ก็จำเป็นที่จะต้องมีทักษะการใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การถ่ายทํา การจัดแสง การบันทึกเสียง และการตัดต่อวิดีโอ เพื่อสร้างหรือรวมชิ้นงานในขั้นสุดท้าย หรือแม้แต่การทำโปรดักชั่นสนุก ๆ ไว้ลงตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือการผันตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของหลาย ๆ คนก็เป็นสิ่งที่ผลักดันความรู้ด้านการตัดต่อวิดีโอให้ขยายกว้างมากขึ้น ตัวอย่างทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Video Production
- ความรู้ด้านการถ่ายทำ การใช้งานอุปกรณ์กล้อง ไฟ การบันทึกภาพ การบันทึกเสียง
- ความรู้ด้านการใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับตัดต่อวิดีโอ เช่น Adobe Premiere
- ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเนื้อหาภาพและเสียง
- ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ
- เทคนิคการปรับแต่ง Grading สี การทำ Motion Graphic และ Visual Effect
- การสื่อสารกับทีมงาน ลูกค้า เพื่อสร้างงานออกมาได้ตรงโจทย์
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ Video Production & Editing
- Adobe Certified Professional : Adobe Premiere Pro
- Adobe Certified Professional : Adobe After Effects
14. Audio Production & Editing
ไม่ว่าจะเป็นเพลง ละคร ภาพยนตร์ โฆษณา ก็ล้วนต้องผ่านการ Audio Production มาแล้วทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันที่การฟังเพลงเปิดกว้างมากขึ้น การฟังพอดคาสต์ การฟังหนังสือเสียงก็เป็นที่นิยมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการผันตัวมาเป็น YouTuber, TikToker ก็จำเป็นต้องมีทักษะในการปรับแต่งเสียงให้เหมาะสมกับสารที่จะสื่อออกไป ทักษะด้านการโปรดักชันเสียงจึงเริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น
15. Content Creation
การผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น ตัวอักษร รูปภาพ วิดีโอ ให้เหมาะสมกับผู้ชม (Audience) แต่ละกลุ่ม ซึ่งการจะทำคอนเทนต์ขึ้นมาได้นั้น จำเป็นจะต้องมีทักษะเหล่านี้ประกอบอยู่ด้วย
- ทักษะด้านการเขียน เป็นทักษะที่เหมาะจะนำมาใช้กับการสื่อสารที่แบรนด์ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับลูกค้าได้ตรง ๆ จึงใช้การเขียนเพื่อสื่อสารแทน และควรเขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม เพราะเป็นปัจจัยเล็ก ๆ ที่สำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ หรือสินค้าของเราได้
- ทักษะด้านการค้นข้อมูล (Research) การสร้างคอนเทนต์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการค้นข้อมูลก่อนทำงาน ซึ่งจะช่วยให้เรามีข้อมูลที่ถูกต้องในการนำมาปรับเป็นคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ
- ความรู้ด้านการออกแบบ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำหน้าที่ออกแบบโดยตรง แต่ Content Creator ก็ควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสี องค์ประกอบภาพ หรือเทรนด์การออกแบบ เพื่อช่วยในการออกแบบร่วมกับ Graphic Designer
- ศิลปะในการเล่าเรื่อง (Storytelling) จำเป็นทั้งการเล่าเรื่องด้วยเสียง ด้วยภาพ และด้วยตัวอักษร ก่อนที่เราจะเล่าเรื่องก็ควรมีการเรียบเรียงเรื่องราวออกมาให้กระชับเหมาะสม ตรงประเด็นที่ต้องการจะสื่อ
- ความรู้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ เพื่อปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของแบรนด์
- ทักษะการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพราะการไม่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเรากำลังพูดกับใคร ก็อาจทำให้คอนเทนต์ที่ผลิตออกมานั้น ไม่มีใครสนใจ
16. Search Engine Optimization (SEO)
ทักษะด้านความเข้าใจหลักการทำงานของ Search Engine เพื่อพัฒนาการสร้างสรรค์คอนเทนต์และเว็บไซต์ที่รองรับการค้นหา ตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปัจจุบันมักจะค้นหาข้อมูลสินค้าเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพและราคาก่อนตัดสินใจ เพราะหากเว็บไซต์ของเราติดอันดับการค้นในหน้าแรก ๆ ย่อมจะทำให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะเข้าถึงสินค้าหรือบริการของเราได้มากขึ้น
ทักษะที่จำเป็นนี้ ได้แก่ การวิเคราะห์คีย์เวิร์ดที่เหมาะสมในการค้นหา การปรับหน้าเว็บไซต์แบบ On-Page และ Off-Page การสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพเพื่อดึงดูดผู้อ่าน การทำ Local SEO กลยุทธ์ในการสร้าง Link เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบทความ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์อย่าง Google Analytics และ Google Search Console ด้วย ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีความรู้ในโปรแกรมของ Google ก็เพราะกูเกิลเป็นเสิร์ชเอนจิ้นที่ถือครอง Market Share มากกว่า 90%เวลาที่ใครต้องการหาข้อมูลอะไรก็มักจะค้นหาในกูเกิลเป็นอันดับแรก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพาเว็บไซต์ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ผู้คนจะหาเจอ เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ เพราะต่อให้สินค้าหรือบริการของเราจะดีแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่มีใครรู้จักก็ยากที่ขายได้
17. Digital marketing
การทำ Digital Marketing คือกระบวนการในการโปรโมตสินค้า บริการ หรือแม้แต่โปรโมตแบรนด์เองผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอนจิ้น รวมไปถึงแอปพลิเคชันบนมือถือ ทักษะที่จำเป็นต้องมีในการทำงานด้าน Digital Marketing ได้แก่
- การสร้างสรรค์และจัดการคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น คอนเทนต์สำหรับการโพสต์ลง Blog คอนเทนต์สำหรับโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย การสร้างแคมเปญอีเมล หรือกิจกรรมเพื่อดึงดูดลูกค้า
- ความรู้ความเข้าใจด้าน SEO เพื่อปรับปรุงคอนเทนต์บนเว็บไซต์ Meta Tag รวมถึงส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อไต่อันดับไปอยู่หน้าแรก
- การทำโฆษณาแบบ Pay-per-click (PPC) ความรู้เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ จัดการ และปรับปรุงกลยุทธ์ในแคมเปญบนแพลตฟอร์มอย่าง Google AdWords หรือ Bing Ads
- Social Media Marketing เข้าใจการทำงานของโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างสรรค์ ปรับปรุงคอนเทนต์ให้เหมาะกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ
- Email marketing ความรู้เกี่ยวกับการสร้างและจัดการแคมเปญการตลาดผ่านอีเมล
- การใช้เครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ เช่น Google Analytics เพื่อติดตามและวัดปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ อัตรา Conversion รวมไปถึงตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพอื่น ๆ
- ความรู้ด้านกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อนำมาปรับใช้ได้ถูกจังหวะและเหมาะสม เพราะ Digital Marketing นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีเรื่องใหม่ ๆ ให้เรียนรู้และอัปเดตเสมอ
18. Public Speaking
การพูดในที่สาธารณะเป็นทักษะในการสื่อสารข้อมูลหรือความคิดกับผู้ชมอย่างมีประสิทธิภาพผ่านคําพูด หลายอาชีพจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านนี้เป็นอย่างมาก เช่น อาชีพเกี่ยวกับการสอน พนักงานขาย นักการตลาด นักการเมือง ซึ่งการจะมีทักษะด้านการพูดในที่สาธารณะได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนความมั่นใจเพื่อดึงดูดผู้ชมผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้เลยโดยไม่มีอาการประหม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มผู้ฟังมีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมการพูดล่วงหน้าเพื่อให้เมื่อถึงเวลาพูดแล้วเราจะไม่หลุดประเด็น และใช้ระยะเวลาได้ตามกำหนด ซึ่งก็อาจจะใช้เครื่องมือช่วยได้ระหว่างการพูด เช่น การใช้ภาพหรือข้อความประกอบการนำเสนอ การเล่าเรื่องแบบยกกรณีศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยดึงความสนใจของผู้ฟังได้อยู่หมัด
19. Leadership
ทักษะความเป็นผู้นําที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการแนะนําทีมและขับเคลื่อนความสําเร็จ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจและนําทางกลุ่มคนไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ผู้นำที่ดีจะคอยกําหนดทิศทาง และกระตุ้นให้เกิดการทํางานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งทักษะความเป็นผู้นํานั้นรวมถึงการคิดเชิงกลยุทธ์การตัดสินใจ การสื่อสาร ความฉลาดทางอารมณ์ การแก้ไขข้อขัดแย้ง และต้องมีความสามารถในการสร้างและนําทีม นอกจากนี้ยังรวมถึงความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจ การมีอิทธิพลและให้อํานาจผู้อื่นเพื่อให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของพวกเขาด้วย ซึ่งทักษะความเป็นผู้นําที่ดีนี้เป็นสิ่งสําคัญในทุกสาขาอาชีพ เป็นกุญแจสู่ความสําเร็จในทุกองค์กร
20. Communication
ทักษะด้านการสื่อสาร คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดผ่านการพูด การเขียน หรือการใช้สื่อรูปแบบอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการฟังอย่างกระตือรือร้น และพูดอย่างชัดเจน ซึ่งทักษะนี้จำเป็นอย่างมากในทุกสายงาน
ยกตัวอย่างกรณีศึกษา บริษัทแห่งหนึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับขวัญกำลังใจของพนักงาน และมีอัตราการลาออกสูง ทีมผู้บริหารจึงตัดสินใจใช้กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการสำรวจรวบรวมข้อเสนอแนะของพนักงาน ซึ่งพบว่าปัญหาคือพนักงานต่างก็รู้สึกว่าการสื่อสารในองค์กรนั้นเป็นการสื่อสารทางเดียว คือฝ่ายบริหารออกคำสั่งโดยไม่รับฟังเสียงจากพนักงาน ดังนั้นทีมบริหารจึงแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดประชุมรวมเป็นประจำ เพื่อให้พนักงานสามารถแสดงออกถึงความกังวลและแจ้งข้อเสนอแนะได้ นอกจากนี้ยังจัดทำกล่องสำหรับใส่คำแนะนำที่พนักงานสามารถส่งความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และยังมอบหมายให้ผู้จัดการพูดคุยกับพนักงานแบบตัวต่อตัวทุกสัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดคุยเกี่ยวกับงานโดยตรง และยังมีการจัดทำจดหมายข่าว หรือแคมเปญต่าง ๆ ส่งถึงกันภายในองค์กรเป็นประจำเพื่อให้พนักงานทราบเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัท และส่งพนักงานเข้าอบรมเกี่ยวกับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พนักงานกลับมามีขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น อัตราการลาออกลดลง เพราะพนักงานรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม และมีคุณค่ามากขึ้น
ตัวอย่างใบประกาศรับรองความรู้เกี่ยวกับ ทักษะด้านการสื่อสาร
21. Time Management
การบริหารจัดการเวลา เรียกว่าแทบจะเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเวลาในการทำงาน การเรียนรู้ หรือการบริหารความสมดุลในการใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance การจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย เพิ่มผลผลิต และลดความเครียดลงได้ ซึ่งเรามีทริคในการบริหารจัดการเวลามาแนะนำดังนี้
- ลำดับความสำคัญ : สิ่งไหนสมควรทำเป็นอย่างแรก และทำเป็นอันดับต่อไป เพราะเราไม่สามารถทำอะไรพร้อม ๆ กันให้ได้ผลสำเร็จออกมา 100% ได้ตลอดเวลา เคยมีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าทุกสิ่งสำคัญเท่ากันหมด แปลว่าจริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรสำคัญเลยสักอย่าง” (เพราะระดับเท่ากันไปหมด)
- กำหนดเป้าหมาย : ต้องเป็นการกำหนดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและวัดผลได้เท่านั้น จึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้ง่าย การกำหนดว่า “วันนี้จะอ่านหนังสือ” ยังไม่ชัดเจนเท่ากับ “วันนี้จะอ่านหนังสือ 3 บท” เมื่อตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ผลลัพธ์ที่วัดได้จึงมีประสิทธิภาพต่างกัน
- กำหนดช่วงเวลา : ใช้ปฏิทิน หรือตารางเวลาออนไลน์ในการช่วยวางแผนให้เห็นเป็นรูปธรรม เขียนกำหนดการที่ต้องเริ่ม และต้องทำสำเร็จให้ชัดเจน
- มอบหมายงานให้คนที่เกี่ยวข้อง : หากมีงานที่คนอื่นสามารถช่วยเหลือได้ หรือเป็นงานที่คนอื่นจำเป็นต้องทำร่วมด้วย ก็อย่าลังเลที่จะมอบหมายงานเพื่อจัดการเรื่องภาระงานให้เสร็จตามกำหนดการ
- โฟกัสกับงานนั้นเมื่อถึงเวลา : พยายามลดสิ่งรบกวนสมาธิ และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ต้องทำตามตารางเวลา
- มีวินัยในตัวเอง : หลีกเลี่ยงการผัดวันประกันพรุ่งให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ต้องทำในวันนี้ ก็ควรทำในวันนี้ พยายามใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- มีความยืดหยุ่น : ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าตลอดว่าให้ทำสิ่งที่ต้องทำ ทำตามตารางที่ตั้งเอาไว้ แต่การปล่อยให้ตัวเองได้มีช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี การยัดสิ่งที่ต้องทำอัดแน่นเป็น 10 ชั่วโมง จะทำให้คุณเครียด และเหนื่อย ควรมีเวลาให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนหย่อนใจกับเรื่องที่ชอบด้วย อย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมง
ตัวอย่างคอร์สเรียน
22. Adaptability
ทักษะการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อม เป็นทักษะสําคัญในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นปัจจุบัน เนื่องจากจะช่วยให้บุคคลและองค์กรสามารถตอบสนองต่อความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างทักษะการปรับตัว
- การเปิดใจ : ความเต็มใจที่จะเปิดรับแนวคิดและมุมมองใหม่ ๆ
- ความยืดหยุ่น : ความสามารถในการรับมือกับความท้าทายที่ไม่คาดคิด
- ความคล่องตัวในการเรียนรู้ : สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะใหม่ ๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
- ความคิดสร้างสรรค์ : การคิดนอกกรอบ รวมถึงการคิดค้นโซลูชั่นที่หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือลดเวลาการทำงานลง
- การแก้ปัญหา : ความสามารถในการระบุและแก้ไขปัญหาในเวลาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- การทํางานเป็นทีม : ความสามารถในการทํางานร่วมกับผู้อื่นและแบ่งปันความคิดร่วมกัน
- ทัศนคติเชิงบวก : ความสามารถในการรักษาทัศนคติเชิงบวกและยังคงมองโลกในแง่ดีเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน
- การจัดการเวลา : ความสามารถในการจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพและจัดลําดับความสําคัญของงานเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
- การรับรู้ทางวัฒนธรรม : ความสามารถในการเข้าใจวัฒนธรรมและมุมมองที่แตกต่างกัน
23. Collaboration และ Teamwork
การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสําคัญในทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากช่วยให้บุคคลและองค์กรสามารถทํางานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ช่วยเพิ่มผลผลิตความคิดสร้างสรรค์ และความพึงพอใจในงาน ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการบรรลุความสําเร็จในสภาพแวดล้อมการทํางานที่รวดเร็วและซับซ้อนในปัจจุบัน
สิ่งที่จำเป็นในการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ความเชื่อใจ ไว้ใจ พึ่งพากันและกันเพื่อเติมเต็มหน้าที่ความรับผิดชอบ การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดให้ยืดหยุ่น เปิดรับความคิดใหม่ ๆ จากสมาชิกในทีม ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทักษะการแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำ การแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างคนในทีม รวมทั้งทัศนคติเชิงบวก เรียกได้ว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้นจำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์หลาย ๆ อย่างเพื่อปรับตัวให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ เป็น Soft Skill ที่ต้องค่อย ๆ ฝึก เรียนรู้ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ
ตัวอย่างคอร์สเรียน
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน
- เข้าถึงเอกสารออนไลน์ และโปรไฟล์ผู้ร่วมงานอย่างรวดเร็วปลอดภัยด้วย Delve
- ตั้งค่าสิทธิ์เอกสารส่วนตัว และแชร์ด้วย Delve และ Outlook
การลงทุนกับความรู้ใน 23 ทักษะข้างต้นที่แนะนำมานี้ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้คุณสามารถแข่งขันกับคนอื่น ๆ ในตลาดแรงงานได้มากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากขึ้นด้วย เริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ ไม่แน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนหมดปีคุณอาจได้มีโอกาสกระโดดข้ามสายงาน หรืออัปเลเวลตัวเองสู่การเป็นมนุษย์ทำงานเก่งที่ใคร ๆ ก็อยากคว้าตัวไปร่วมทีม