แนะนำเครื่องมือสร้าง Visual Content (2D 3D AR VR)

มีการศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับการใช้ภาพสื่อความหมายมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าสมองของคนเรานั้นสามารถประมวลภาพได้รวดเร็วกว่าข้อความถึง 60,000 เท่า รวมไปถึงกลไกสมองนั้นสามารถจดจำสีได้มากกว่า ดังนั้นสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อการตลาด สื่อการเรียนการสอน สื่อประชาสัมพันธ์จึงมักผลิตคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบของ Visual Content เพื่อให้ตรงกับความสนใจของผู้รับสารมากที่สุด

แล้ว Visual Content คืออะไร?

คือคอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบของภาพหรือวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็น ภาพเคลื่อนไหวแบบ GIFS, รูปภาพ, สไลด์โชว์, ภาพ Infographic, สื่อที่สามารถโต้ตอบกับผู้รับสารได้, ภาพเคลื่อนไหวแบบ Motion Graphic, วิดีโอ รวมไปถึง E-books ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราคงพอจะมองเห็นภาพมาระยะใหญ่แล้วว่าถูกนำมาใช้ในการสื่อสารอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนช่องทาง Social Media ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็น TikTok, Facebook, Instagram, YouTube และผลของการนำ Visual Content มาใช้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้รับชม โดยดูได้จากยอด Views ยอด Likes ที่มักจะมากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น


(ภาพจาก : www.columnfivemedia.com)

เมื่อสื่อไม่ได้หยุดอยู่แค่ 2D และ 3D

ถ้าพูดถึงรูปแบบของภาพ หลายคนคงเคยได้ยินและรู้จักภาพลักษณะ 2D และ 3D กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะเราคุ้นชินกับภาพเหล่านี้มาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาเร็วขึ้น จึงก่อเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เรียกว่า เทคโนโลยี AR, VR และ MR ซึ่งเป็นการนำภาพแบบ 2D และ 3D มาประยุกต์และพัฒนาต่อเป็นสื่อแบบโลกเสมือนจริงที่ผู้รับสื่อหรือผู้ใช้งานสามารถมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับสื่อได้ เข้าถึง Key Message ที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อสารได้มากยิ่งขึ้น

เครื่องมือสร้างสื่อ Visual Content

จากความหลากหลายและรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของนวัตกรรม แต่มันได้เปลี่ยนสถานะให้กับการเป็นผู้สร้างสื่อและผู้รับสื่อด้วย หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ ณ วันนี้ใคร ๆ ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์จินตนาการของตนเองออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างง่ายดาย ต่างจากเมื่อก่อนที่ผู้สร้างสรรค์มักจะถูกตีกรอบอยู่ในแวดวงเฉพาะทาง เช่น นักกราฟิก ผู้สร้างเกม หรือ ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เรียนมาเฉพาะทางเท่านั้น

เมื่อทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเปลี่ยนบทบาทเป็น Content Creator ได้ เราจึงหยิบยกตัวอย่างเครื่องมือในการสร้างสื่อต่าง ๆ มาให้ลองศึกษาและเลือกใช้ ซึ่งบางเครื่องมือนั้นสามารถใช้งานได้ง่าย เพียงคลิก ลาก วาง และปรับแต่ง บางเครื่องมือต้องอาศัยการฝึกฝนและความรู้ด้าน Coding ร่วมด้วยเพื่อกำหนดค่าให้ทำตามคำสั่งได้

1. CANVA

เครื่องมือชิ้นแรกที่เราแนะนำคือเครื่องมือสารพัดประโยชน์ที่สามารถสร้างชิ้นงานลักษณะ 2D ได้หลากหลายรูปแบบ โดย CANVA นั้นเป็นบริษัท Startup สัญชาติออสเตรเลียที่มีจุดประสงค์เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ง่ายดายและรวดเร็ว มีเทมเพลตให้เลือกใช้มากมาย ครอบคลุมการสร้างสื่อทั้งแบบ ภาพ, Infographic, วิดีโอ สะดวกในการสร้างโพสต์สำหรับลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย หากต้องการนำ Elements ต่าง ๆ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์สามารถจ่ายเงินสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี ก็นำใช้งานได้อย่างไม่ติดลิขสิทธิ์แล้ว และด้วยการตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด จึงทำให้ CANVA ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและกระโจนขึ้นสู่การเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัปที่มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันเหรียญสหรัฐในระยะเวลาเพียงไม่นาน


(ภาพจาก : www.canva.com)
ตัวอย่างการนำ CANVA ไปใช้
  • สร้าง Presentation รายงาน
  • สร้าง Resume สมัครงาน
  • ชิ้นงาน Infographic
  • โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
  • นามบัตร / ใบปลิว / งานพิมพ์ต่าง ๆ
  • ภาพเคลื่อนไหวแบบ GIFS / แบบ VDO
  • ภาพสื่อโฆษณาบน Social Media

2. Blender


(ภาพจาก : www.blender.org)

มาถึงสื่อแบบ 3D กันบ้าง เป็นความจริงที่ว่าการ์ตูน 3D หรือภาพยนตร์แบบ 3D นั้น น่าสนใจและครองใจผู้ชมเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจมีหลายคนที่ดูแล้วฝันอยากจะลองสร้างชิ้นงาน 3D เป็นของตัวเองสักชิ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เราขอแนะนำโปรแกรม Blender เป็นตัวเลือกในการลองสร้างสรรค์จินตนาการ เพราะข้อดีของ Blender คือเป็นโปรแกรมประเภท Open-Source ที่เปิดให้สามารถใช้งานได้ฟรี และสามารถใช้ได้กับทุกระบบปฏิบัติการ แถมยังมี Tutorial การใช้งานให้สามารถศึกษาได้ (หรือจะมาเรียนกับ ARIT ก็ได้) ซึ่งคุณสมบัติของ Blender สามารถทำได้ตั้งแต่การสร้างโมเดล 3 มิติ ไปจนถึงผลิตออกมาเป็นแอนิเมชันได้เลย

ตัวอย่างงานที่สร้างจาก Blender

Rabbids Invasion: Mission to Mars เป็นการ์ตูน animation ภาคพิเศษความยาว 70 นาที ที่ออกอากาศในประเทศฝรั่งเศส และมีแผนจะลงฉายบน Netflix ในปี 2022 ซึ่งการ์ตูนตอนพิเศษนี้ได้นำ Blender ไปใช้งานในส่วนของการ Production, VIDEO Track และสร้าง Asset ต่าง ๆ ในเรื่อง

วิดีโอนำเสนอรางวัล EMMYS Award ผลิตขึ้นด้วยโปรแกรม Blender เพื่อใช้ในการเปิดตัวรางวัลในปี 2018 เป็นการผสมผสานทั้งการปั้นโมเดลและการทำ Motion Graphic เข้าด้วยกัน

3. Spark AR

เครื่องมือถัดไปที่เราจะแนะนำ มีชื่อว่า Spark AR ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเอฟเฟกต์ หรือ ฟิลเตอร์บนแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมมากอย่าง Facebook และ Instagram ความพิเศษอยู่ตรงที่เมื่อเราสร้างต้นแบบงานเรียบร้อยแล้วเราสามารถอัปโหลดให้งานเป็นสาธารณะเพื่อให้คนอื่นเข้ามาร่วมใช้งานได้ด้วย ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน

นอกจาก Spark AR จะสร้างเอฟเฟกต์สนุก ๆ หรือฟิลเตอร์หน้าสวยได้แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานขายและการตลาดได้ ตัวอย่างเช่น Starbucks นำ AR มาเพิ่มลูกเล่นให้กับแก้วเครื่องดื่มเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความพิเศษในช่วงเทศกาลพิเศษ โดยใช้ฟิลเตอร์บน Facebook และ Instagram ซึ่งข้อดีคือผู้คนมีการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่เพื่อร่วมสนุก

4. Assemblr


(ภาพจาก : www.assemblrworld.com)

Assemblr เป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ที่นิยมนำมาใช้สร้างสื่อการเรียนการสอน AR เพื่อสร้างห้องเรียนที่มีชีวิต เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่สามารถออกไปศึกษานอกห้องเรียนได้ เทคโนโลยี AR จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้พวกเขาได้เห็นภาพสิ่งที่เรียนรู้ได้ชัดเจนมากขึ้น แต่นอกจากด้านการศึกษาแล้ว Assemblr ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่นได้เช่นกัน

ตัวอย่างงานที่สร้างจาก Assemblr
DUCATI

บริษัทผลิตและออกแบบรถจักรยานยนต์ DUCATI นำ Assemblr มาสร้างโมเดลรถดูคาติ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถรับชมดีไซน์รถและรายละเอียดส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ก่อนมาดูคันจริงที่โชว์รูม


(ภาพจาก : www.assemblrworld.com/case-study/ducati)

Xiaomi

บริษัท Xiaomi (Indonesia) นำ Assemblr มาใช้เป็นบัตรเชิญเข้าร่วม Virtual Event เปิดตัว Redmi Note 10 5G series ในประเทศอินโดนีเซีย โดยการนำแอปพลิเคชัน Assemblr หรือ Instagram ฟิลเตอร์ไปสแกนลงบนโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ก็จะเห็นแอนิเมชันบัตรเชิญเข้าร่วมงาน


(ภาพจาก : www.assemblrworld.com/case-study/xiaomi-indonesia)

5. Unity

มาถึงโปรแกรมที่สามารถสร้างงาน 2D และ 3D ระดับสูงกันบ้าง โปรแกรมนี้มีชื่อว่า Unity เป็นโปรแกรมที่อยู่เบื้องหลังเกมและงานกราฟิกหลาย ๆ อย่าง รองรับการทำงานทั้งบน Windows และ MAC OS สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรี (แต่มีข้อจำกัด) ในการสร้างสรรค์งานระดับเทพนั้นต้องอาศัยความรู้ด้านภาษา C และ C++ และสามารถใช้งานร่วมงานกับโปรแกรมอื่น ๆ เพื่อคุณภาพงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น Vuforia

Unity ได้รับการออกแบบมาสำหรับการออกแบบเกม และเทคโนโลยี AR, VR โดยเฉพาะ ดังนั้นใครที่ฝันอยากจะสร้างเกมเป็นของตัวเอง หรือร่วมงานกับทีมสร้างเกม การศึกษา Unity เอาไว้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งนอกจากการนำมาสร้างเกมแล้ว แน่นอนว่าเรายังสามารถนำ Unity มาปรับใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการขายและการตลาด หรือการศึกษาได้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างงานที่สร้างจาก Unity
Among us

เกมค้นหาเอเลียนที่แฝงตัวมาเป็นลูกเรือบนยานอวกาศ โดยกติกาจะกำหนดให้ผู้เล่นเป็นได้ทั้งลูกเรือและอิมพอร์สเตอร์ เป้าหมายของลูกเรือคือทำภารกิจให้สำเร็จและหาตัวคนร้ายให้สำเร็จ ส่วนภารกิจของอิมพอร์สเตอร์ก็ตรงไปตรงมาคือปกปิดตัวตน และ Kill ผู้เล่นคนอื่น ๆ ก่อนที่พวกเขาจะทำภารกิจสำเร็จ และเมื่อมีผู้เล่นถูก Kill ทุกคนที่ยังอยู่ในเกมจะต้องมาถกเถียงกันเพื่อโหวตคนร้าย

ซึ่งเจ้า Among Us นั้นได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนมีผู้เล่นมากกว่า 500 ล้านแอคเคาท์ และภายใต้ความสำเร็จนี้ได้รับการออกแบบเกม 2D ด้วยโปรแกรม Unity นั่นเอง

COCO VR

หากพูดถึงสายภาพยนตร์แอนิเมชัน ค่ายที่นึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้น Pixar Studio ที่ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันออกมามากมาย และหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความนิยมและกวาดรางวัลระดับโลกมาแล้วคือเรื่อง COCO (ชื่อภาษาไทย : วันอลวน วิญญาณอลเวง) เนื้อเรื่องเป็นการพูดถึงเทศกาลแห่งความตาย (Day of the Dead) ของชาวเม็กซิกัน ความผูกพันของครอบครัว และการเคารพวัฒนธรรมพื้นเมือง

จากส่วนผสมของเนื้อเรื่องที่กินใจ ความสวยงามของภาพ รวมไปถึงเพลงเพราะ ๆ ทำให้ COCO ได้กลายเป็นหนึ่งในลิสต์แอนิเมชันในดวงใจของใครหลายคน กระแสของโคโค่จึงยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น Pixar จึงร่วมมือกับ Magnoplus พาโคโค่ก้าวสู่เทคโนโลยีอันล้ำหน้าโดยการนำ Unity มาใช้สร้างบรรยากาศของโลกแห่งความตายที่เหมือนกับในภาพยนตร์ เพื่อให้แฟน ๆ ได้เข้าไปท่องเที่ยวในโลก VR เสมือนจริงนั้นร่วมไปกับตัวละคร

University of Miami

เราพูดถึงการสร้างเกม และโลก VR เสมือนจริงที่รังสรรค์จาก Unity กันไปแล้ว แต่ความสามารถของ Unity นั้นไม่ได้จำกัดจินตนาการอยู่เพียงแค่นั้น Unity ยังสามารถสร้างสื่อการสอนสเกลใหญ่ที่รวบรวมการใช้งานแบบ Real-time 3D (RT3D) และ AR, VR, MR เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยในการสอนวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัย Miami ภายใต้โปรแกรมการเรียน XR Garage ที่มีนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมจำลองการเรียนแบบ Interactive ในด้านการแพทย์ศัลยกรรม การช่วยชีวิตเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล ซึ่งทำให้นักศึกษาเหล่านี้ได้มีประสบการณ์ในการตัดสินใจ และการทดลองใช้เครื่องมือก่อนที่จะต้องเจอเคสจริง

จากเครื่องมือการสร้างสรรค์ Visual Content ที่เราแนะนำไปทั้งหมด ซึ่งมีตั้งแต่ระดับง่ายแบบคลิก ลาก วาง ไปจนถึงระดับสูงที่ต้องเรียนรู้การ Coding จะเห็นได้ว่าถึงแม้ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือเครื่องมือเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อใช้พัฒนาคุณภาพการเรียน การทำงาน ความบันเทิงของมนุษย์ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ปรับแต่งเพื่อให้ผู้ใช้งานก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเอง ผลิตงานใหม่ ๆ ออกมาอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้านไปพร้อมกับเทคโนโลยี

ข้อมูลอ้างอิง :
Previous Postอัปเดตแนวคิดเทคโนโลยีที่ยังคงมาแรงปี 2022
Next Postทำไมสาย IT ต้องมี Cert.