อยากเป็น Content Creator เริ่มต้นยังไงดี

อาชีพ Content Creator คือใคร

หากจะพูดถึงอาชีพที่มาแรงในยุคที่กำลังขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและคอนเทนต์ หนึ่งในอาชีพที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด เชื่อว่าต้องมีอาชีพ Content Creator หรือ นักออกแบบเนื้อหา (ซึ่งเรามักจะทับศัพท์เรียกว่า ‘คอนเทนต์’) รวมอยู่ด้วยแน่นอน

ในอดีตการทำงานเกี่ยวกับการออกแบบคอนเทนต์จะถูกรวมอยู่ในสายอาชีพอื่นแบบกว้างๆ เช่น Graphic Design หรือ Digital Marketing แต่ปัจจุบันหากลองค้นหาตามแหล่งรับสมัครงานต่างๆ เราจะเริ่มเห็นการระบุอาชีพ Content Creator แบบชัดเจนขึ้น แยกสัดส่วนการทำงานออกมาจากการเป็น Marketing เพราะการสร้างคอนเทนต์นั้น หากจะลงรายละเอียดแบบจริงจัง ก็จำเป็นมากที่จะต้องมีคนทำงานที่คอยโฟกัสกับเรื่องของเนื้อหาไปเลยโดยเฉพาะ

มีวลีคลาสสิคที่เรามักจะหยิบยกมาพูดถึงเสมอในแวดวงสาย Content คือ “Content is King” คอนเทนต์คือหัวใจสำคัญที่สุด คนพูดประโยคนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล เขาคือ บิล เกตส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Microsoft ที่เคยพูดเอาไว้ตั้งแต่ปี 1996 ผ่านมา 27 ปี วลีนี้ก็ยังคงเป็นจริงเสมอมา เพราะไม่ว่าจะมีงบการตลาดมากสักแค่ไหน หากคอนเทนต์ที่ทำออกมาไม่สามารถจับใจผู้ชมได้ ก็เหมือนเอาเงินไปเททิ้งลงน้ำ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่โลกหันมาให้ความสำคัญกับคนที่สร้างสรรค์คอนเทนต์มากยิ่งขึ้น


Content Creator คือคนที่สร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนผ่านรูปแบบและช่องทางต่างๆ



Types of Content creator

Content Creator มีกี่แบบ

การจัดหมวดหมู่ของนักออกแบบคอนเทนต์จริงๆ แล้วมีหลากหลายรูปแบบมาก แบ่งตามแพลตฟอร์มการนำเสนอ เช่น Blogger, YouTuber, Podcast หรือแบ่งตามหน้าที่ย่อยๆ ได้หลากหลาย แต่ในบทความนี้เราจะขอแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะของคอนเทนต์ปลายทางออกเป็น 3 ด้าน และยกตัวอย่างเพื่อให้ง่ายต่อการมองภาพรวม

  • คอนเทนต์ประเภทการเขียน (Text Base)

    • การเขียนบทความลงเว็บไซต์หรือบล็อก
    • การเขียน Copywriting
    • การเขียนรีวิว
    • การเขียนข้อความสำหรับลง Social Media
    • การเขียน E-mail Marketing
  • คอนเทนต์ประเภทรูปภาพ (Image Base)

    • ภาพ Infographic
    • ภาพโฆษณาสำหรับ Social Media
    • ภาพถ่าย
  • คอนเทนต์ประเภทวิดีโอ (Video Base)

    • Short Form Video
    • Vlog
    • คลิป How to
    • คลิปรีวิว
    • Live Streaming

Content Creator Skills

อยากเป็น Content Creator ควรมี Skills อะไรบ้าง

Hard Skill

  • Content Creation : ทักษะด้านการสร้างคอนเทนต์

    สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นครีเอเตอร์คือต้องสามารถสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ มีความสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง สามารถถ่ายทอด Key Message ที่อยากจะส่งออกไปได้ ดึงดูดผู้อ่านหรือผู้ชมให้หยุดดูคอนเทนต์ของเราได้ ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เชื่อมโยงกับผู้คนได้หลากหลายขึ้น ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมายที่กระตุ้นให้หลายคนเริ่มที่จะสร้างคอนเทนต์ในแบบของตัวเอง เกิดเป็น Content Creator หน้าใหม่ในรูปแบบ Individual สามารถสร้างคอนเทนต์ที่รีเทิร์นกลับมาเป็นรายได้ได้มากขึ้น

  • Research Skill : ทักษะด้านการค้นคว้า

    เมื่อครีเอเตอร์ได้รับบรีฟหรือได้ไอเดียในการทำคอนเทนต์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบ ซึ่งครีเอเตอร์จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าข้อมูลที่หามาได้นั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ สามารถนำมาอ้างอิงได้ไหม ข้อมูลเป็นปัจจุบันหรือเก่ามากแล้ว ไปจนถึงการค้นคว้าว่าคอนเทนต์ว่าแบบใดที่กลุ่มเป้าหมายมีแนวโน้มที่จะสนใจมากที่สุด หากครีเอเตอร์ไม่มีทักษะการค้นคว้า หยิบข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาใส่ในงาน ก็อาจได้รับผลตอบรับ (Feedback) ในทิศทางที่ไม่ดีนัก หรือหากต้องทำงานให้กับลูกค้า ก็อาจทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ และอาจเสียโอกาสในการร่วมงานกันต่อไป

  • Social Media Skill : ทักษะด้านการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

    เพราะผู้คนใช้เวลาอยู่ใน Social Media เป็นส่วนใหญ่ และครีเอเตอร์เองก็ต้องลงงานไว้บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ การรู้ว่าลักษณะคอนเทนต์แต่ละแพลตฟอร์มเป็นแบบไหน ต้องใช้ภาพขนาดเท่าไหร่ วิดีโอความยาวเท่าไหร่ หรือสามารถพิมพ์ข้อความได้สั้นยาวแค่ไหน สามารถใส่ URL Link ได้ไหม แพลตฟอร์มไหนเหมาะกับคอนเทนต์แบบไหน จะทำให้ครีเอเตอร์วางแผนได้ว่าจะต้องผลิตชิ้นงานแบบใดออกมาจึงจะเหมาะสมที่สุด หรือแม้แต่การที่เราสร้างงานไว้บนเว็บไซต์ก็ยังจำเป็นต้องนำมาโปรโมตใน Social Media เพื่อเพิ่มการมองเห็นเช่นกัน

  • Technical Skill : ทักษะด้านการใช้เครื่องมือในการสร้างคอนเทนต์

    ทักษะในการใช้เครื่องมือจะแตกต่างกันไปตามสายคอนเทนต์ และความถนัดของแต่ละบุคคล

    การเลือกใช้เครื่องมือที่ตรงกับวัตถุประสงค์จะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือใครที่กำลังอยากเข้าสู่สายครีเอเตอร์ ก็ควรเริ่มศึกษาและฝึกใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ให้ชำนาญ

    คอนเทนต์ด้านการเขียน

    ส่วนใหญ่จะเน้นทักษะ Storytelling เรียบเรียง บอกเล่าข้อมูล โดยใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ที่สามารถพิมพ์ข้อความลงไปได้ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Word, Google Doc, Note Application ต่างๆ, พิมพ์ลงใน Web blog โดยตรง หรือใครยังถนัดเขียนลงบนกระดาษแล้วค่อยมาพิมพ์ทีหลังก็ยังได้ แต่ไม่ว่จะถนัดวิธีไหนก็ตาม เราขอแนะนำให้เลือกเครื่องมีอที่มี Autosave หรือถ้าไม่มีก็ต้องหมั่นกด Save งานบ่อยๆ เพราะหลายครั้งที่พิมพ์เอาไว้แล้ว แต่อินเทอร์เน็ตมีปัญหา คอมพิวเตอร์ดับ โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตค้าง ข้อมูลที่เขียนไว้ทุกอย่างอาจหายไปทั้งหมดได้ การหมั่นกด Save หรือมี Autosave จะช่วยให้เรายังมีข้อมูลที่บันทึกไว้ส่วนหนึ่งอยู่ ไม่ต้องเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด

    คอนเทนต์ด้านรูปภาพ

    เครื่องมือสำหรับสร้างคอนเทนต์แบบรูปภาพ มีตั้งแต่ระดับใช้งานง่ายและฟรีอย่าง Canva ที่หลายองค์กรเริ่มระบุลงใน Description สมัครงานแล้ว ซึ่งแคนวาก็ตอบโจทย์การสร้างงานกราฟิกที่สะดวกในระดับหนึ่ง เหมาะกับการทำงานในสเกลที่ไม่ใหญ่มากนัก เช่น ทำภาพกราฟิกลงใน Social Media

    หากขยับความสามารถของโปรแกรมที่ใช้งานได้กว้างขึ้นอีกหน่อย และสามารถใช้งานสเกลใหญ่ขึ้น ใช้เทคนิคในการออกแบบได้มากขึ้น ก็คงหนีไม่พ้นโปรแกรมตระกูล Adobe ทั้ง Photoshop และ illustrator ซึ่งก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่เหล่าครีเอเตอร์เลือกใช้งานเป็นอันดับต้นๆ

    คอนเทนต์ด้านวิดีโอ

    เทรนด์ของการสร้างคลิป Video ที่เป็นไวรัล มักจะเน้นการตัดต่อที่ ง่าย และ สนุก โซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ จึงมีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับครีเอเตอร์ เพื่อดึงดูดให้นักสร้างสรรค์ใช้งานเครื่องมือ และลงคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่หากพูดถึงการเป็น Content Creator ที่ต้องทำงานกับ Studio ต่างๆ หรือมีการทำงานที่เป็น Business มากขึ้น ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีทักษะการใช้งานเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานอย่าง Premiere Pro หรือ After Effect ดังนั้นใครที่กำลังอยากเริ่มต้นเดินทางในสาย Video Content ก็ควรที่จะเริ่มศึกษาโปรแกรมเหล่านี้เอาไว้

  • SEO Skill : ทักษะด้านความเข้าใจการทำงานของ Search Engine

    การเข้าใจหลักการทำงานของ Search Engine จะช่วยทำให้เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการพาคอนเทนต์ไปอยู่ในสายตาของผู้ชมได้ เพราะต่อให้คอนเทนต์ของเราจะดีสักแค่ไหนแต่ก็คงไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีใครมองเห็นเลย และการทำ SEO ในปัจจุบันไม่ใช่เพียงเพื่อให้ Google ค้นเจอเท่านั้น แต่ SEO บน Social Media แต่ละแพลตฟอร์มก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นการรู้ว่าควรนำ Keyword ไปแทรกไว้ตรงจุดไหนที่จะทำให้ผู้คนค้นหาคอนเทนต์ของเราเจอ หรือแม้กระทั่งการตั้งชื่อไฟล์ การติด Tag การใส่รูปแบบตัวอักษร ส่วนไหนเป็น Heading, Number ทุกขั้นตอนมีผลต่อการทำ SEO


Soft Skill

  • Creativity : ความคิดสร้างสรรค์

    ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ทำให้ครีเอเตอร์แต่ละคนมีความแตกต่าง ตัวครีเอเตอร์เองจำเป็นที่จะต้องมีไอเดียในการสร้างสิ่งใหม่ๆ และควรที่จะเป็นไปในทางสร้างสรรค์ด้วย เป็นอาชีพที่จะขาดสกิลนี้ไปไม่ได้เลย

  • Analytical Thinking : การคิดวิเคราะห์

    ครีเอเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์คอนเทนต์ได้ วิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมได้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพในการสร้างคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดี เช่น ตอนนี้เทรนด์อะไรกำลังเป็นที่นิยม ผู้คนชื่นชอบเทรนด์นั้นเพราะอะไร แล้วเราจะนำมาประยุกต์ให้เข้ากับ Products ของเราได้ยังไงบ้าง

  • Listening Skill : ทักษะในการรับฟัง

    เชื่อหรือไม่ว่า “การรับฟัง” เป็นเรื่องที่เหมือนจะทำได้ง่าย ใครๆ ก็ทำได้นั้น ความจริงแล้วไม่ใช่เลยสักนิด มีครีเอเตอร์มากมายที่เลือกจะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด สร้างคอนเทนต์ในมุมที่ตัวเองอยากสื่อสารออกไป แต่ไม่เคยรับฟังว่าผู้คนอยากจะได้ยินอะไร อยากจะเห็นอะไร การรับฟังแล้วสร้างคอนเทนต์ที่ตอบรับความต้องการนั้นออกมา จะช่วยให้ลดปัญหาการทำคอนเทนต์ออกมาแล้วไม่มีคนสนใจได้มากขึ้น

  • Lifelong Learning Skill : ทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    ขึ้นชื่อว่าเป็น Creator แน่นอนว่าการปล่อยให้เส้นลิมิตมาจำกัดกรอบความคิดเป็นเรื่องที่อันตรายมาก การมี mindset ที่ดีต่อการเรียนรู้จะทำให้ครีเอเตอร์สามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่เสมอ มีไอเดียมากขึ้น เข้าใจ และพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่าคนที่ปิดกั้นหรือปฏิเสธการเรียนรู้


ขั้นตอนการทำงานของ Content Creator

ขั้นตอนการทำงานของ Content Creator ไม่ว่าจะเป็นแบบ Individual หรือแบบ Business ปลายทางคือการสร้างคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบที่ตัวเองถนัด ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนเป็น 3 ส่วนที่สำคัญได้แก่

  1. วางแผน (Planning)

    • วางเป้าหมายในการสร้างคอนเทนต์
    • กำหนดกลุ่มเป้าหมาย
    • เลือกประเภทคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์ม
    • บรีฟคอนเทนต์ที่จะสร้างคร่าวๆ เพื่อให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
  2. สร้างสรรค์งาน (Creation)

    • ค้นคว้า หาข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้
    • รวบรวมไอเดียต่างๆ ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
    • เลือกสไตล์ที่ต้องการนำเสนอ
    • ลงมือสร้างคอนเทนต์ด้วยเครื่องมือที่ถนัด
    • ตรวจชิ้นงานและปรับปรุงแก้ไข
    • เผยแพร่สู่สาธารณะ
  3. เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาคอนเทนต์ (Optimization)

    • วิเคราะห์คอนเทนต์ที่ปล่อยออกไปแล้ว
    • นำ Feedback ที่ได้มาพัฒนาคอนเทนต์ต่อๆ ไป


Creative Content Workflow

อาชีพ Content Creator มีรายได้เท่าไหร่

ค่าตอบแทนของอาชีพ Content Creator ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยประกอบ เช่น กลุ่มธุรกิจ หน้าที่ที่ได้รับ ประสบการณ์การทำงาน โดยแบ่งระดับกว้างๆ ออกเป็น 3 ระดับ

นักศึกษาจบใหม่ / ยังไม่มีประสบการณ์ รายได้ประมาณ 15,000 - 20,000 บาท
ประสบการณ์ 1-5 ปี รายได้ประมาณ 20,000 - 35,000 บาท
ประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไป รายได้ประมาณ 35,000 บาทขึ้นไป


อยากเป็น Content Creator ต้องเรียนอะไร

ศึกษาจากมหาวิทยาลัย

ผู้ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ และยังอยู่ในช่วงวัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย สามารถเลือกเรียนในคณะหรือสาขาต่อไปนี้เพื่อเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์

- คณะนิเทศศาสตร์
- คณะสื่อสารมวลชน
- คณะศิลปกรรม
- คณะอักษรศาสตร์

เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่าน Course หรือ Workshop

ใครที่ไม่ได้เรียนจบแบบตรงสาย อย่าเพิ่งคิดว่าจะเป็น Content Creator ไม่ได้ เพราะหัวใจสำคัญของการสร้างคอนเทนต์ไม่ใช่แค่เพียงใช้เครื่องมือในการสร้างสรรค์เป็นเท่านั้น แต่การมี Core Knowledge ในสาขาอื่นๆ เช่น การตลาด เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ แพทย์ ค้าขาย หรืออะไรก็ตามก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เปรียบ เพราะการเรียนรู้เครื่องมือสามารถศึกษาจาก คอร์สกราฟิก หรือ Workshop ต่างๆ ได้ทั้งแบบคอร์สระยะสั้น คอร์สระยะยาว เมื่อมีพื้นฐานความรู้เรื่องการใช้เครื่องมือ ก็เอา Core ความรู้ที่เรามีมาสร้างเป็นคอนเทนต์ในสไตล์ของเรา เตรียมสร้าง Portfolio ไว้สมัครงาน หรือปั้นตัวเองเป็น Individual Content Creator ผันตัว Influencer ก็ยังได้

เพิ่มโอกาสด้วยการรับรองทักษะผ่าน Certificate จากเจ้าของซอฟต์แวร์

สำหรับคนที่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถผันตัวเป็น Content Creator ได้ไหม โดยเฉพาะผู้ที่จบไม่ตรงสาย มีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ คือการใช้ใบรับรองทักษะมาตรฐานสากล หรือ Certificate มาใส่ในโปรไฟล์

ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในการออกแบบอย่างเครื่องมือในตระกูล Adobe มีการวัดทักษะด้วยใบประกาศที่สามารถใช้งานได้ทั่วโลก ซึ่งจะกำหนดเป็น Pathway สำหรับคนที่อยากจะเป็น Creator โดยเฉพาะ เมื่อเราสอบผ่านในแต่ละโปรแกรม จะได้รับ Certificate และ Digital Badge ที่สามารถนำไปใส่ใน Resume ได้

Visual Design Badge

นักสร้างคอนเทนต์สาย Visual Design

สอบโปรแกรมหลัก : Photoshop
เลือกสอบโปรแกรมเสริมระหว่าง illustrator หรือ InDesign
เมื่อสอบผ่านทั้ง 2 โปรแกรม จะได้รับ Certificate และ Badge เพิ่มอีก 1 ชิ้น ชื่อว่า Adobe Certified Professional in Visual Design

Video Design Badge

นักสร้างคอนเทนต์สาย Video Design

สอบโปรแกรมหลัก : Premiere Pro
เลือกสอบโปรแกรมเสริมระหว่าง Photoshop หรือ After Effects
เมื่อสอบผ่านทั้ง 2 โปรแกรม จะได้รับ Certificate และ Badge เพิ่มอีก 1 ชิ้น ชื่อว่า Adobe Certified Professional in Video Design


ใบรับรองทักษะด้านกราฟิกดีไซน์จาก Adobe

ประกาศนียบัตร Adobe Certified Professional รับรองทักษะการใช้งานโปรแกรมขั้นพื้นฐานจาก Adobe Systems Inc.


รวมคอร์ส Graphic Design เริ่มต้นสู่การเป็น Content Creator

Card image cap
Illustrator Professional with Adobe illustrator CC

Adobe Illustrator เป็นโปรแกรมกราฟิกเวกเตอร์ยอดนิยมสำหรับออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัลมีเดีย สร้างโลโก้ ไอคอน และวาดภาพประกอบ

รายละเอียดคอร์ส
Card image cap
Photoshop Professional with Adobe Photoshop CC

ในปัจจุบันการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์และโฆษณา ล้วนแล้วแต่มีการใช้ภาพถ่ายและการจัดวางองค์ประกอบกราฟิกทั้งสิ้น

รายละเอียดคอร์ส
Card image cap
Graphic Design with Photoshop & Illustrator

งานออกแบบกราฟิก มีความสำคัญในการสื่อสารทางการตลาด เพื่อสร้างความน่าสนใจ การรับรู้ การโน้มน้าว กระตุ้นความคิด และตัดสินใจของผู้บริโภค

รายละเอียดคอร์ส

บทความแนะนำ
Previous Postปั้นโปรไฟล์ให้ได้งานที่ใช่ ด้วย Digital Badge รับรองทักษะ
Next Postทำไม iOS Developer ภาษา Swift เป็นที่ต้องการ