7 ขั้นตอนเปลี่ยนสายงานเป็นคนไอที
“สายไอที” เป็นสายอาชีพที่เป็นที่นิยมอยู่เสมอ และค่าตอบแทนก็อยู่ในกลุ่มที่น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถหนีจากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ สายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็ยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น ARIT มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนสายงานมาเป็นสายไอที เตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง
1. สำรวจความต้องการ และค้นข้อมูล
การเปลี่ยนสายงานนั้นจะว่ายากก็อาจใช่ แต่ก็ไม่ถึงกับยากเกินจนเป็นไปไม่ได้ ก่อนอื่นเลย หากต้องการเปลี่ยนสายงานจริง ๆ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ถามตัวเองให้แน่ใจว่าสายงานที่ต้องการจะย้ายไปนั้นคืออะไร ค้นข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้มาประกอบการพิจารณาให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ขอบเขตการทำงานของอาชีพนั้น ความรู้ที่จำเป็นต้องมี ลำดับขั้นการเติบโตในสายงาน (Career Path) ความขาดแคลนบุคลากรในสายงาน ขอบเขตเงินเดือน เพื่อให้มีข้อมูลมากพอสำหรับการตัดสินใจและเป็นเป้าหมายให้เราจริงจังกับการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสายงานในครั้งนี้
2. วางแผนภารกิจเขียนสิ่งที่ต้องพัฒนา
เมื่อมีเป้าหมายที่แน่นอนแล้ว ลองหาเวลาว่างสักวันเพื่อลงมือเขียนแผนการพัฒนาตัวเองให้ชัดเจน แต่ไม่เอา “ภายในปีนี้จะเรียน.....” แบบนี้นะคะ เป้าหมายที่กว้างและไกลเกินไปมีโอกาสสูงมากที่จะทำไม่สำเร็จ อยากให้เราระบุลงไปชัดเจนเลยว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน ทำเป็นตารางพัฒนาตัวเองโดยเฉพาะ หากเป็นพนักงานประจำที่ไม่มีเวลาในวันธรรมดาเลย ก็อาจกำหนดวันสำหรับการเรียนรู้ เสาร์-อาทิตย์ เช่น
“วันเสาร์ที่.... เรียนเรื่อง Cleansing Data by Power BI ที่เว็บ Skillon ใช้เวลา 2 ชั่วโมง”
“วันเสาร์ที่.... เรียนเรื่อง Data Analytics จาก YouTube ช่อง......”
ลองเขียนตารางดูสักหนึ่งเดือนหรือสองเดือน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมในการพัฒนาตัวเอง ตารางอาจยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ แต่อยากให้พยายามทำตามที่วางแผนเอาไว้ให้ได้ก่อน เพราะเมื่อเริ่มต้นได้แล้ว เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับกิจกรรมเหล่านั้นจนกลายเป็นกิจวัตร และรู้ตัวเองว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องใดต่อไป เพราะอย่าลืมว่าการเปลี่ยนสายงาน แปลว่าเราไม่ได้คุ้นเคยกับมันมาตั้งแต่แรก เราเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่นที่อยู่ในสายงานนั้น ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวินัย และอย่าลืมที่จะสนุกไปกับการพัฒนาตนเอง
3. พาตัวเองไปอยู่ในแวดวงของสายงานนั้น
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาได้ดีและช่วยทำให้เรา “อิน” กับสิ่งนั้นมากที่สุด คือการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในโลกจริง ๆ เช่น การเข้าร่วมงานสัมมนา การหาเพื่อนที่อยู่ในแวดวงเหล่านั้นมาก่อน หรือสภาพแวดล้อมในโลกเสมือนอย่าง Community บนโซเชียลมีเดียที่รวบรวมเอาบุคคลที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาไว้ด้วยกัน เพื่อพูดคุย ตอบคำถาม ให้คำแนะนำ บอกเล่าประสบการณ์ และให้เทคนิคความรู้ที่เราอาจจะหาอ่านจากหนังสือไม่ได้ เมื่อเราเข้าไปอยู่ในแวดวงเหล่านั้นแล้วก็จะช่วยให้เรามีมุมมองคล้ายกับคนที่อยู่ในวงจรเดียวกันค่ะ
4. เก็บเกี่ยวความรู้ที่จำเป็นเท่าที่จะทำได้
เมื่อคุณได้ทำตามข้อแนะนำที่ 2 และ 3 ไปสักพักแล้ว นั่นแปลว่าคุณเริ่มมีทักษะความรู้ในสายงานใหม่เพิ่มมากขึ้นแล้ว คุณอาจเริ่มขยับขยายการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาเป็นการควักกระเป๋าลงเรียนหลักสูตร Diploma ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ รวมถึงมองหาประกาศรับสมัครงานเพื่อดูว่าทักษะความรู้ใดบ้างที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการ แล้วเราก็พาตัวเองไปพัฒนาสิ่งนั้น เพื่อที่จะได้ตรงกับโจทย์ที่นายจ้างมองหา
5. สั่งสมประสบการณ์ให้มาก สอบ Certificate เก็บไว้
ในเมื่อไม่ได้อยู่สายงานนี้ตั้งแต่แรก แล้วจะไปเอาประสบการณ์มาจากไหน? วิธีหนึ่งในสายงานไอทีที่สามารถสร้างประสบการณ์ได้ นอกเหนือจากการทำงานจริง คือการทำ Workshop หรือ การเรียนรู้ผ่านวิธีการปฏิบัติผ่าน Lab ในสายงานนั้น เพื่อฝึกฝนวิธีการทำงาน รวมถึง สอบวัดทักษะความรู้ด้วย IT Certificate ที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้มีเครื่องการันตีความรู้ให้นายจ้างในอนาคตมั่นใจว่าต่อให้เราไม่ได้เรียนจบมาตรงสายงานแต่เราก็มีความรู้พอสำหรับการทำงาน
ตัวอย่าง Certificate ที่ได้รับการรับรองจากเจ้าของซอฟต์แวร์ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
- Microsoft Certified Fundamentals NEW
- Project Management Ready™ NEW
- IT Specialist Certification NEW
- Adobe Certified Professional
- App Development with Swift Certification
- Autodesk Certified User Certificate
- Communication Skills for Business
- Entrepreneurship and Small Business
- IC3 Digital Literacy Certification HOT
- IC3 Spark
- Microsoft Office Specialist HOT
- Microsoft Certified Educator
- Unity Certified User Certification
6. อัปเดตเรซูเม่ เรียนรู้อะไร ทำอะไรมาบ้าง
หลังจากผ่านการเรียนรู้มาแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถก้าวเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพใหม่คือการอัปเดตโปรไฟล์ของเรา หลายคนอาจคุ้นชินกับการทำเรซูเม่ แต่หลายคนก็อาจห่างหายมานาน การทำเรซูเม่สมัครงานนั้นจริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเราว่าอยากจะเสนออะไร และสิ่งที่ต้องการนำเสนอนั้นตรงกับสิ่งที่ผู้จ้างกำลังมองหาหรือไม่
การทำเรซูเม่ อย่ามองเพียงแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว ความสวยงามอาจำให้มองแล้วสบายตา แต่ไม่ได้การันตีว่าจะได้งาน (ยกเว้นสมัครงานที่ต้องทำกราฟิกร่วมด้วย) เราแนะนำหลัก ๆ ว่าขอให้อ่านง่าย เห็นแล้วทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวคุณ ว่าคุณเป็นใคร เรียนจบอะไรมา มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานอย่างไรบ้าง มีความถนัดด้าน Hard Skills และ Soft Skills อย่างไรบ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้สามารถที่จะค้นหาแนวทางการทำเรซูเม่ได้มากมาย เมื่อใส่ใจความสำคัญครบแล้วค่อยมาปรับความสวยงามทีหลัง
7. ร่อนใบสมัคร ลงสนามจริง
ถึงเวลาที่ต้องรวบรวมความกล้าแล้วลงสนามจริง หลายคนตกม้าตายในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากทำทุกสิ่งทุกอย่างมาหมดแล้ว แต่ไม่กล้าพอที่จะก้าวข้ามกำแพงของตนเอง หากแน่วแน่ที่จะทำแล้ว การรอช้าแต่ละนาทียิ่งทำให้เราช้าลงเรื่อย ๆ ดังนั้น โยนความกังวลทิ้งไปแล้วยื่นใบสมัครไปยังบริษัทที่ต้องการ เริ่มต้นสัมภาษณ์งานให้เป็นตัวเองที่สุด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้มีแนวทางจะพัฒนาอย่างไร ตอบในสิ่งที่คิดว่าทำได้จริงเข้าไว้ และอย่าลืมศึกษาขอบเขตฐานเงินเดือนในตำแหน่งนั้น ๆ เอาไว้ด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เตรียมตัวมาจะเริ่มต้นนับตั้งแต่จุดนี้